วันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่ รพ.ลำดวน จังหวัดสุรินทร์



                โรงพยาบาลลำดวน มีคลินิกให้บริการบำบัดรักษาผู้ติดสารเสพติด เปิดให้บริการบำบัดรักษา ผู้เสพ ผู้ติดสารเสพติด บำบัดสุรา และให้คำปรึกษาผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ โดยคลินิกยาเสพติด โรงพยาบาลลำดวน ได้ดำเนินการมาได้ประมาณ 10 ปี ซึ่งดิฉันได้รับมอบหมายจากท่านผู้อำนวยการ และหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล ให้มาดูแลงานด้านนี้ สำหรับตัวดิฉันเองเป็นพยาบาลธรรมดา ไม่มีความสามารถโดดเด่นอะไร ด้านการพูด ตัวเองก็คุยไม่เก่ง ค่อนข้างจะขี้อาย แต่ด้านความรับผิดชอบงาน และความดี ดิฉันคิดว่า ตนเองก็ไม่แพ้ใคร เมื่อเจ้านายมอบหมายงานก็ยินดีรับด้วยความเต็มใจ ส่วนความรู้ด้านการบำบัดก็ไม่มี แต่หัวหน้าสั่ง ลูกน้องก็ทำตามด้วยความเต็มใจและไม่มีความอึดอัดใจแต่อย่างไร แต่ข้อดีของดิฉันอย่างหนึ่ง ก็คือ เป็นคนชอบศึกษาเรียนรู้ (ขออนุญาตชื่นชมตัวเอง) จึงได้นำความรู้ต่างๆ ทั้งทางโลกและทางธรรม จากการอ่าน  การศึกษา  จากอินเตอร์เน็ต จากเพื่อนๆ เครือข่ายผู้บำบัดสารเสพติด มาช่วยเหลือผู้ป่วยตามอัตภาพ สำหรับงานบริการให้คำปรึกษาผู้ติดบุหรี่ ก็ดำเนินการควบคู่กับงานบำบัดยาเสพติด แต่การให้บริการ ส่วนใหญ่จะเป็นการตั้งรับที่คลินิก โดยแผนกผู้ป่วยนอก และ PCU จะส่งผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ เข้ามาที่คลินิก ซึ่งผู้ต้องการเลิกบุหรี่ แต่ละปี ไม่ถึง 10 คน  ต่อมาได้ทราบข่าวการประชาสัมพันธ์ การรับสมัครเครือข่ายคลินิกอดบุหรี่ของ สปสช. เขต 9 นครราชสีมา จาก สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสุรินทร์ จึงสมัคเข้าร่วมโครงการฯ  ดิฉันได้ศึกษาข้อมูลการให้บริการ และประชุมทีมผู้บำบัด ปรึกษาหัวหน้าฝ่ายการพยาบาล และหัวหน้างานที่เกี่ยวข้อง  นำระบบ 5A , 5 R มาใช้ในแผนกผู้ป่วยนอกและ PCU โดยมีการซักถามประวัติการสูบบุหรี่ในผู้ป่วยที่มารับบริการทุกคนและทุกครั้งที่มารับบริการ ส่งผลให้ผู้มารับบริการและเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เห็นความสำคัญของปัญหา และผลกระทบของการสูบบุหรี่ มีผู้ที่มีปัญหาการสูบบุหรี่เข้ารับบริการมากขึ้น จากการเก็บข้อมูลผู้สูบบุหรี่สามารถลดปริมาณการสูบบุหรี่ ได้มากกว่าร้อยละ50 สามารถหยุดสูบบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 10-20 ซึ่งโรงพยาบาลลำดวนได้สมัครเข้าร่วมโครงการคลินิกอดบุหรี่ปีนี้เป็นปีที่ 2

                และผู้เลิกบุหรี่ที่อยากเล่าสู่กันฟัง ก็เป็นเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลนี่ละค่ะ รายนี้ เป็นอะไรที่พอ บอกใครๆ ว่าเลิกบุหรี่ได้ เกือบปี แล้ว ไม่มีใครอยากเชื่อ แม้แต่ตัวดิฉันเอง เพราะเขาสูบบุหรี่จัดและดื่มเหล้าเก่ง หน้าตาก็ขี้เมา พี่ๆ เจ้าหน้าที่ฝ่ายส่งเสริมที่ดูแลงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพก็เป็นห่วง ดิฉันเคยแจกแบบประเมินนิโคตินให้เมื่อปีก่อน  เค้าก็กรอกแบบประเมิน และผลการประเมินนิโคติน 7 คะแนน แต่ตอนนั้น เค้าบอกว่าไม่รู้สึกอะไร  จนกระทั่ง เขาได้พูดคุยกับผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองในหมู่บ้าน จึงเห็นถึงความทุกข์ ทรมานจากการเจ็บป่วย และรู้สึกหวาดกลัว ประกอบกับตัวเอง สังเกตตนเองว่า ไอ และมีเสมหะในลำคอตลอด  และตนเองได้ค้นหาเรื่องถุงลมโป่งพองทางอินเตอร์เน็ต จึงรู้สึกกลัว และเป็นห่วงว่า ถ้าตนเองเจ็บป่วย ใครจะดูแลลูก ซึ่งตนก็แยกทางกับภรรยาได้หลายปีแล้ว  ดิฉันได้พูดคุยถึงเรื่องการเลิกบุหรี่ของเค้า ก็รู้สึกประทับใจ คือ จากภาพที่หลายคนมองว่าเค้าดูจะขี้เมา เสื้อผ้าไม่ดูเรียบร้อย แต่ที่สัมผัสได้ คือ ความรับผิดชอบต่อครอบครัว รักลูก ต้องการทำงานให้ดี ต้องการเลี้ยงลูกให้ดี มีชีวิตอย่างพอเพียง จริงๆแล้วพี่เค้าเคยเลิกบุหรี่ด้วยตนเองมาแล้วครั้งหนึ่ง ตอนนั้นเลิกเพราะต้องทำงานในออฟฟิต เค้าห้ามสูบบุหรี่ โดยเลิกได้เดือนเดียว ก็กลับมาสูบบุหรี่อีกเนื่องจาก ถูกให้มาทำงานนอกออฟฟิต พี่เค้าเล่าว่า เริ่มสูบบุหรี่ตั้งแต่อายุ 18 ปี สาเหตุ คือ สูบตามเพื่อน และค่านิยมคือ ดูเท่ สามารถอยู่ในกลุ่มเพื่อนได้ ซึ่งเพื่อนๆ สูบบุหรี่แทบทุกคน สูบไปสูบมา รู้ตัวอีกทีก็ติดบุหรี่ โดยสูบวันละซอง ยิ่งถ้าวันไหนดื่มเหล้า ก็จะยิ่งสูบบุหรี่ มากขึ้น ต่อมารู้สึกสุขภาพตัวเองแย่ เวียนศีรษะบ่อย มีเสมหะเหนียว เพื่อนร่วมงานก็ล้อเลียน  บางครั้งรู้สึกผิดจากการแอบสูบบุหรี่ในที่ทำงาน  หลังจากพูดคุยกับผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพอง ได้เห็นความทุกข์ทรมานของเขา ทำให้ตนเองตระหนักถึงปัญหาของการสูบบุหรี่ นึกเป็นห่วงลูก และถ้าตนเองเป็นโรคนี้ ไม่ไหวแน่ จึงตัดสินใจเลิกบุหรี่แน่นอน โดยวิธีหักดิบ เพราะคิดว่า ถ้าค่อยๆเลิก คงจะเลิกไม่ได้แน่  พร้อมทั้งทิ้งอุปกรณ์ทุกอย่าง แต่ก็นึกอยากบ้าง แก้ปัญหาโดยดื่มน้ำมากๆ ทำอะไรให้ลืม มีน้ำลายเหนียวๆ แต่ก็ดื่มน้ำมากๆ และพยายามสังเกตการเปลี่ยนแปลงของตนเอง มีความสุขกับการสังเกตการเปลี่ยนแปลง จนกระทั่ง 1 เดือน ไม่มีเสมหะ ร่างกายแข็งแรงขึ้น ไม่เวียนศีรษะ ตอนนี้ไม่มีอาการอยากบุหรี่ ดิฉัน สังเกตเห็นพี่เค้ามีใบหน้าสดใดขึ้น  สีหน้ามีความสุข  แววตามีความมุ่งมั่น ที่จะดูแลสุขภาพตนเอง ดูแลลูก และครอบครัว ทำงานให้ดี  และบอกว่า ตอนนี้ไม่ค่อยดื่มเหล้า และจะพยายามเลิกเหล้าให้ได้   พร้อมทั้ง ได้ฝากข้อคิดกับทีมผู้ให้คำปรึกษา การแนะนำผู้ป่วย น่าจะพูดถึงเรื่องปัญหาทางเดินหายใจ โรคถุงลมโป่งพอง ให้มากเพราะในหมู่บ้าน เขตอำเภอลำดวน คนเป็นโรคถุงลมโป่งพอง และหายใจหอบมาก มากกว่า เรื่อง มะเร็งปอด เพราะแถวบ้านเรา case มะเร็งปอด ไม่ค่อยมี คือ มีน้อย แต่ถ้าถุงลมโป่งพอง นี่ จะหาได้ง่าย ซึ่ง จะทำให้ผู้สูบบุหรี่เกิดความตระหนัก จากการเห็นความทุกข์ทรมาน ที่ปรากฏให้เห็นได้ จากคนบ้านเรา ข้างรั้วโรงพยาบาล

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น