วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่ รพ.บัวใหญ่ จ.นครราชสีมา

เรื่องที่ 1 : คนไข้คนแรก
เป็นครั้งแรกที่ผมได้ทำงานในคลินิกอดบุหรี่ พี่ๆที่หน่วยงานให้โอกาสผมได้เข้ามาเป็นผู้ช่วยในการบำบัดบุหรี่ ก่อนอื่นผมขอแนะนำตัวก่อนนะครับ ผมเป็นนักจิตวิทยาประจำโรงยาบาลบัวใหญ่ เป็นน้องใหม่ที่พึ่งเข้าทำงานได้ไม่ถึงปี และการที่ได้ทำงานในด้านนี้นั้นทำให้ผมได้ประสบการณ์ต่างๆมากมาย ดังที่ผมจะได้เล่าต่อไปนี้
ผมได้ทำงานได้ไม่นานก็มีผู้ป่วยที่คลินิก COPD ได้ส่งผู้ป่วยเป็นคุณลุงคนหนึ่ง ที่มีโรคประจำตัวเป็นถุงลมโปร่งพอง และยังสูบบุหรี่อยู่มาเข้าคลินิกอดบุหรี่และนี่ก็เป็นคนไข้คนแรกของผม ผมใช้เวลาคุยกับคุณลุงประมาณครึ่งชั่วโมงได้ให้ดู Power Point เกี่ยวกับโทษพิษภัยบุหรี่ ข้อเสียของการสูบบุหรี่ และวิธีการเลิกบุหรี่ หลังให้ดูและคุยกับคุณลุง คุณลุงก็ได้บอกผมว่าจะลองพยายามเลิกดู แต่จากการสังเกตสีหน้าและแววตา ท่าทางทำให้ผมคิดว่าคุณลุงคงยังไม่อยากเลิกเท่าไหร่ แต่ไม่เป็นไรยังไงก็ขอให้คุณลุงได้ลองพยายามดูก่อน แล้วผมก็ได้นัดคุณลุงมาติดตามผลอีกหนึ่งสัปดาห์ พอครบหนึ่งสัปดาห์คุณก็ไม่ได้มาตามนัด ผมจึงได้โทรศัพท์ไปหาคุณลุง ครั้งแรกที่โทรไป คุณลุงไม่ได้รับสาย แต่เป็นภรรยาของคุณลุงรับสายแทน ผมจึงถามภรรยาคุณลุงว่า เป็นยังไงบ้างครับช่วงนี้ อาการของคุณลุงเป็นยังไงบ้างครับ แล้วคุณลุงยังสูบบุหรี่อยู่ไหมครับ คุณป้าก็ตอบผมกลับมาว่า ยังเหมือนเดิมอยู่นะคะคุณหมอ แต่รู้สึกว่าจะสูบบุหรี่น้อยลงนะคะ ผมจึงบอกว่าถ้าอาการของคุณลุงยังไม่ดีขึ้นหรือมีอาการแย่ลงให้รีบพามาโรงพยาบาลด่วนเลยนะครับ เนื่องจากคุณลุงเป็นคนไข้คนแรกของผมและมีโรคประจำตัวเป็นโรคถุงลมโปร่งพองจึงทำให้ผมอยากจะช่วยให้คุณลุงเลิกบุหรี่ให้ได้ เพราะการสูบบุหรี่นั้นจะส่งผลโดยตรงกับโรคประจำตัว หลังจากนั้นผมก็ได้โทรติดตามคุณลุงอยู่เรื่อยๆ บางครั้งคุณลุงก็รับสาย บางครั้งภรรยาคุณลุงก็รับสาย จากการพูดคุยในแต่ละครั้ง คุณลุงก็ได้บอกผมว่า ผมยังเลิกไม่ได้ละครับ ผมยอมรับว่าผมยังสูบอยู่ ผมว่ามันเลิกยากนะ แต่ผมก็ไม่ได้ว่าอะไรคุณลุง ผมให้กำลังใจคุณลุงทุกครั้ง และสอบถามอาการของคุณลุงอยู่เสมอผมใช้เวลาเป็นเดือนในการโทรติดตามและได้โทรหาคุณลุงเกือบทุกวัน จนมีวันหนึ่งคุณลุงได้บอกกับผมว่า ผมไม่ดูดบุหรี่ตั้งแต่เมื่อวานแล้วครับ มีอาการหงุดหงิดบ้างและนำวิธีการเลิกบุหรี่ที่คุณหมอแนะนำไปใช้แล้วนะครับ มันก็ได้ผลอยู่ พอผมหยุดสูบบุหรี่ ผมรู้สึกว่าผมหายใจสะดวกขึ้น ผมตัดสินใจแล้วว่าจะหยุดโดยเด็ดขาด และไม่ให้คุณหมอเป็นห่วงแล้วนะครับ พอผมได้ฟังอย่างนั้นทำให้ผมได้มีกำลังใจขึ้น มีความรู้สึกดีๆเกิดขึ้นในใจ เพราะทีแรกผมก็คิดว่าคุณลุงคงจะเลิกไม่ได้แล้วแต่ผมก็เป็นห่วงคุณลุงเพราะคุณลุงมีโรคประจำตัวอยู่ หลังจากนั้นผมก็ได้โทรติดตามตลอดอีกหนึ่งสัปดาห์จนคุณลุงได้บอกกับผมว่าคุณลุงจะไม่กลับไปสูบอีกแล้วแน่นอน เพราะหลังจากยุดสูบแล้วรู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้นมาก หายใจสะดวกขึ้น ไม่เหนื่อยง่ายเหมือนเมื่อก่อน และผมก็ได้สอบถามกับคุณป้าว่าอาการของคุณลุงเป็นยังไงบ้าง คุณป้าก็บอกว่าอาการของคุณลุงดีขึ้นและก็ดีใจที่คุณลุงเลิกบุหรี่ได้และขอบคุณคุณหมอมากๆเลยนะคะ ที่ช่วยให้คุณลุงเลิกบุหรี่ได้ หลังจากนั้นผมก็ได้คุยเรื่องการป้องกันการเฝ้าระวังการกลับไปสูบซ้ำ และการจัดการและหลีกเลี่ยงตัวกระตุ้ จนรู้สึกว่าคุณลุงเข้าใจและสามารถนำไปปฏิบัติได้ นี่ละครับคือประสบการณ์ครั้งแรกของผมที่ทำงานเกี่ยวกับการบำบัดคนไข้เลิกบุหรี่จากเคสนี้ทำให้ผมได้รู้ว่าถ้าเรามีจิตใจที่อยากจะช่วยและเป็นกำลังใจให้กับเขาอยู่เสมอก็จะเป็นสิ่งเสริมแรงทำให้คนไข้สามารถเลิกบุหรี่ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในปัจจุบันนี้ผมก็ได้บำบัดคนไข้เลิกบุหรี่ได้หลายคนแล้วซึ่งก็มีบางคนเลิกได้บ้างและเลิกได้บ้างซึ่งมันก็จะไม่ทำให้ผมท้อถอยในการเลิกบำบัดผู้ป่วยบุหรี่อย่างน้อยผมก็คิดว่ายังมีโอกาสทำให้คนส่วนหนึ่งเลิกได้และส่วนคนที่ยังเลิกไม่ได้ก็ยังสามารถให้เขาสูบลดลงได้ ถึงแม้ว่าคนยังไม่เลิกสูบก็ตามและผมก็จะบอกคนไข้เสมอว่าถ้ายังเลิกไม่ได้ก็ยังไม่เป็นไร ถ้าอยากเลิกอีกเมื่อไหร่ผมยังรออยู่ที่คลินิกอดบุหรี่นะครับ ผมเชื่อว่าทุกคนสามารเลิกได้นะครับ ผมเป็นกำลังใจให้นะครับ และสุดท้ายนี้ผมคิดว่าการที่คนไข้ติดบุหรี่อาจจะเป็นเพราะส่วนหนึ่งคือการขาดความมั่นคงทางด้านจิตใจและพิ่งพิง สิ่งที่ทำให้เขามีความคิดว่าเป็นความสุขจนกลายเป็นความเคยชินและพฤติกรรมที่แก้ไขไดยากแต่ถ้าเราเข้าไปช่วยให้เขาเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านจิตใจและแนะนำสิ่งที่เป็นประโยชน์กับเขาผมเชื่อว่าผู้ป่วยที่ติดบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้ และสำหรับผมมันไม่สำคัญหรอกครับว่าคนทุกคนที่เข้ามาในคลินิกต้องเลิกบุหรี่ได้ทุกคน แค่ผมได้มีโอกาสช่วยให้คนทุกคนที่ติดบุหรี่ได้มีความคิดที่จะเลิกบุหรี่แค่นี้ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้วนะครับ

เรื่องที่ 2 :  ผู้ป่วยจิตเวชกับการเลิกบุหรี่
ถ้าพูดถึงผู้ป่วยจิตเวช หลายคนคงนึกถึงคนที่มีลักษณะทื่อๆไม่มีชีวิตชีวา เนื้อตัวมอมแมม ผมเผ้ารุงรัง มือ เล็บเหลือง ฟันเหลืองเนื่องจากสูบบุหรี่มาก เช่นเดียวกับผู้ป่วยรายนี้ เป็นชายไทย อายุ 38 ปี ผิวสีน้ำตาล สีหน้าดูยิ้มแย้ม ท่าทีเป็นกันเอง ปกติไปรักษาที่โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ เป็นเวลา 3-4 ปีแล้ว เนื่องจากบ้านอยู่ติดเขตจังหวัดขอนแก่น แต่ปัจจุบันอาการปกติดีจึงขอมารับยาต่อที่โรงพยาบาลบัวใหญ่ และเมื่อมารับบริการทุกครั้งพยาบาลก็จะทำการซักประวัติเกี่ยวกับการสูบบุหรี่ และก็ได้ทราบว่าผู้ป่วยสูบบุหรี่มากกว่า 20 มวน/วัน จึงแนะนำเข้คลินิกอดบุหรี่ (คุ้นๆไหมคะ ก็ทำตามเทคนิค 5A เขานั่นแหละ) ส่วนผู้ป่วยก็ดูมีท่าทีว่าสนใจอยากจะเลิก ดูตั้งใจ กระตือรือร้นดี แต่ญาติ(ภรรยา) กลับดูไม่ค่อยเชื่อมั่นในตัวผู้ป่วยสักเท่าไร พูดราวกับว่าผู้ป่วยจะไม่มีทางที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ จนทำให้ผู้บำบัดรู้สึกจิตตกไปด้วย พร้อมกับคิดในใจว่าจะไหวหรือเปล่าหละเนี่ย  แต่เราก็ทำตามกระบวนการบำบัดไปจนครบขั้นตอน (โดยผู้ป่วยเข้ารับการบำบัดครั้งแรกในวันที่ 5 กรกฎาคม 2555) แล้วก็นัดติดตามบำบัดต่อเนื่องอีก 1 สัปดาห์ ตามปกติ พร้อมกับคิดในใจอีกว่า เอาหละถ้าผู้ป่วยเลิกได้ หรือตั้งใจเลิกจริงๆเขาก็คงจะมาตามนัด แต่ถ้าไม่มาตามนัดก็อาจมีแนวโน้มว่าจะเลิกไม่ได้  แต่เมื่อถึงวันนัดเราก็ต้องประหลาดใจ เพราะผู้ป่วยก็ได้มาตามนัด แต่ญาติ(ภรรยา)ไม่ได้มาด้วย  และในการบำบัดครั้งที่สองนี้ผลก็ปรากฏว่า.. ผู้ป่วยยังสูบบุหรี่อยู่ (ฮ่า ๆ ๆ)  แต่ ! สูบลดลงจากยี่สิบกว่ามวน/วัน เหลือแค่ 3-4 มวน/วันเท่านั้น และที่สำคัญไปกว่านั้นเขายังสามารถหยุดสูบได้ตั้ง 3 วัน โดยผู้ป่วยเล่าว่าใช้หมากผรั่งนิโคมายด์ และชาชงสมุนไพรหญ้าดอกขาวช่วยในการเลิกบุหรี่ และช่วยลดอาการถอนพิษนิโคติน แต่หลังจากนั้นเกิดอาการปวดมึนศีรษะและรู้สึกหงุดหงิด จึงกลับมาสูบอีก               
ปัจจุบันผู้ป่วยก็ยังคงมารับการบำบัดตามนัดอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับยังสูบบุหรี่อยู่ที่ 3-4 มวน/วัน แต่ความประทับใจก็คือ การที่ผู้ป่วยมีความตั้งใจที่จะเลิกและพยายามมาตามนัดทุกครั้ง ถึงแม้ว่าจะยังเลิกได้ไม่เด็ดขาด  และความท้าทายในครั้งนี้คือ ผู้ป่วยจิตเวชซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่คู่กันกับบุหรี่ เพราะสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยจิตเวชเพศชายที่มารับบริการที่โรงพยาบาลส่วนใหญ่มักจะสูบบุหรี่ แต่เรากำลังพยายามช่วยให้เขาเลิกบุหรี่ และก็ตั้งใจว่าจะพยายามต่อไป ให้กำลังใจกันต่อไป จนกว่าเขาจะสามารถเลิกสูบบุหรี่ได้  และโปรดติดตามตอนต่อไปกันนะคร้าบ

เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่ โรงพยาบาลขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา


เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่  โรงพยาบาลขามทะเลสอ  จังหวัดนครราชสีมา  
โดย ชฎาวรรณ  กิ่งโคกกรวด

          ดิฉันเป็นพยาบาล  เริ่มทำงานที่แผนกอุบัติเหตุฉุกเฉินของโรงพยาบาลขามทะเลสอได้  5  ปี  ต่อมาหัวหน้าได้ให้มีการคัดเลือกในกลุ่มการพยาบาล   เพื่อหาผู้มารับงานยาเสพติดโดยการลงคะแนนโหวด  และดิฉันได้มีโอกาสมารับผิดชอบงานยาเสพติด  เนื่องจากผู้รับผิดชอบเดิมลาออกมาหลายปี  และยังไม่มีผู้ดำเนินงานต่อ  ในการมาทำงานยาเสพติดครั้งนี้  ดิฉันก็มีความกังวลว่าจะทำได้ไหม  เนื่องจากเป็นงานใหม่ที่ไม่เคยทำมาก่อน  แต่ดิฉันก็จะทดลองดู  โดยตั้งใจทำงาน  พยายามศึกษางานและเรียนรู้ให้มากที่สุด  เพราะว่าดิฉันยังจำคำที่คุณหมอผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ดิฉันเคยทำงานร่วมกับท่าน  และท่านได้ให้โอกาสรับผิดชอบงานใหม่  ท่านได้ให้ข้อคิดว่า  กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวนะ  ดิฉันยังจำคำพูดของท่านมาตลอด  และเป็นแรงผลักดันให้มีกำลังใจในการทำงานใหม่ๆให้สำเร็จต่อไป 
          โรงพยาบาลขามทะเลสอยังไม่มีคลินิกอดบุหรี่  ดิฉันได้เข้ารับฟังการบรรยายเพื่อเตรียมดำเนินงานคลินิกอดบุหรี่  จากโรงพยาบาลที่ประสบความสำเร็จและกลับมาคิดว่าจะเริ่มอย่างไร  ดิฉันจึงเริ่มให้คำปรึกษาและแนะนำให้เลิกบุหรี่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน  ต่อมาก็ในกลุ่มผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง  โดยเริ่มต้นด้วยการถามผู้ป่วยทุกรายว่าเคยสูบบุหรี่หรือไม่  สูบวันละกี่มวน  และเคยดื่มสุราหรือไม่  และแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่  เลิกดื่มสุรา  ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือจากหัวหน้างานและพยาบาลในแผนกผู้ป่วยนอกทุกคนในการดำเนินการขั้นต้นนี้  ตอนแรกๆผู้ป่วยบางคนมีสีหน้างง  เมื่อได้รับคำแนะนำให้เลิกสูบบุหรี่  แต่บางคนก็บอกว่า  ขอบคุณที่แนะนำ  ก็อยากเลิกอยู่   ได้ฟังแล้วก็มีกำลังใจ  เมื่อมีกิจกรรมประชาสัมพันธ์เพื่อรณรงค์การเลิกบุหรี่  โดยทีมงานยาเสพติด  ประกอบด้วย  พยาบาล  นักจิตวิทยา  และเภสัชกรก็พบว่า  มีคนสนใจที่จะเลิกสูบบุหรี่  และบางคนก็อยากให้คนใกล้ชิดเลิกบุหรี่  มีการซักถามว่าจะทำอย่างไรบ้าง  ได้ให้คำแนะนำเพื่อมารับบริการที่คลินิกอดบุหรี่  และได้มีผู้ที่สามารถเลิกบุหรี่ได้  ได้เล่าประสบการณ์ในการที่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ว่า  สำคัญอยู่ที่ใจ  ถ้าเลิกก็เลิกด้วยใจ  อีกรายหนึ่งบอกว่า  ลองเลิกดู  ไม่สูบก็ไม่มีอาการอะไร  ส่วนรายที่สอง  บอกว่า  ดูจากคนและสิ่งที่เห็นรอบๆตัวว่า  เป็นสิ่งที่ทำให้ได้เห็นจริงว่าบุหรี่หรือเหล้าทำลายตัวเองอย่างไร  แล้วก็ไม่ไปยุ่งเกี่ยวอีกเลย  ได้ฟังแล้วก็ชื่นชมและประทับใจในสิ่งที่ผู้ป่วยได้ให้ข้อคิดดีๆที่นำมาถ่ายทอด  ถึงความภาคภูมิใจที่เอาชนะใจตนเองได้  จากการที่ดิฉันได้มีโอกาสมาทำงานคลินิกอดบุหรี่  ทำให้ดิฉันได้เรียนรู้กับผู้ป่วยอีกกลุ่มหนึ่งที่ความคิดยังติดอยู่กับบุหรี่และสุรา  ถึงแม้หลายคนบอกว่า  อยากเลิกแต่เลิกไม่ได้  แต่ดิฉันก็จะเป็นกำลังใจและช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้น  และคิดว่าสักวันหนึ่งเขาจะสามารถละ  ลด  เลิกบุหรี่และสุราได้ 

วันพฤหัสบดีที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่ รพ.พระทองคำ จ.นครราชสีมา

ผู้เข้ารับการบำบัดชื่อ นายชโลม น้อมพุดซา อายุ 68 ปี  มีโรคประจำตัว  ปอดอุดกั้นเรื้อรัง  รักษาที่ รพ พระทองคำเฉลิมพระเกียรติ  ๘๐  พรรษา มีประวัติ สูบบุหรี่มาประมาณ   50 ปี  ให้เหตุผลว่าเพื่อป้องกันยุงกัด เริ่มเข้ารักษาอาการโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ปี พ.ศ .2550 เริ่มต้นมาด้วยอาการเหนื่อยหอบหายใจไม่สะดวก รักษาด้วยการให้ยาพ่นขยายหลอดลม อาการพอทุเลา ที่ห้องฉุกเฉิน  ที่ห้องฉุกเฉินในเริ่มแรก ให้เพียงสุขศึกษาสั้นๆ เกี่ยวกับสาเหตุของโรคที่เกิดขึ้นแก่ผู้ป่วยและการดำเนินของโรคที่จะเกิดขึ้นต่อไปถ้ายังสูบบุหรี่อยู่อย่างต่อเนื่อง  จากนั้น ผู้ป่วยยังมีอาการหอบเหนื่อย มาเรื่อยๆ เข้ารักษาที่ รพ พระทองคำเป็นประจำ เคยได้ใส่ท่อช่วยหายใจ 2 ครั้ง ทุกครั้งจะได้ประวัติว่าผู้ป่วยสูบบุหรี่ ก่อนจึงมีอาการ  และบางครั้งหลังจากรักษาที่ห้องฉุกเฉินจนอาการดีจนสามารถกลับบ้านได้พยาบาลได้แอบสังเกตเห็นผู้ป่วยสูบบุหรี่ทันที ขณะเดินไปยังอาคารจอดรถ จึงได้เข้าไปเน้นย้ำในสิ่งที่เกิดขึ้น ว่าได้รับอะไรบ้างจากการสูบบุหรี่จากนั้นผู้ป่วยก็ได้เข้ามารักษาด้วยอาการหอบเหนื่อยอยู่เรื่อยๆ จนกระทั่งถึงวันที่ ผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยมาก ได้รักษาด้วยการใส่ท่อช่วยหายใจ  ส่งรักษาต่อเนื่องที่ รพ มหาราช หลังจากที่กลับมาจาก  รพ มหาราช มา นอนรักษาที่ รพ พระทองคำได้เข้าพูดคุยที่ตึกผู้ป่วยใน  จึงได้ ประเมินการติดนิโคติน ผลออกมาอยู่ในระดับสูง ได้แนะนำผู้ป่วยเข้าคลินิกอดบุหรี่ ใช้เทคนิค 5 A 5R   ประกอบกับภาวะของโรคที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยเป็นไปตามกับที่ผู้ให้การบำบัดได้อธิบายไว้เมื่อครั้งแรกๆที่ผู้ป่วยเข้ามารักษาใน รพ พระทองคำ  จึงทำให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในผู้ให้การบำบัด และต้องการเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง ในการบำบัดไม่ได้ใช้ยาในการบำบัดแต่ใช้กระบวนการให้คำปรึกษาและกระตุ้นให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการเป็นกำลังใจในการเลิกบุหรี่ และต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้เข้ารับการบำบัดว่าสิ่งที่เราอธิบายมีไปนั้น คือสิ่งที่เป็นจริงผลกระทบเกิดขึ้นจริง และให้ความมั่นใจว่าเราสามารช่วยผู้ป่วยได้  case  นี้ใช้เวลาบำบัด 4 ปี แบบเน้น ซ้ำ ย้ำ ทวน เพราะ ผู้ป่วยสูบๆเลิก จึงต้องใช้เวลาในการ บำบัด แต่ก็คุ้ม


วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคลินิกเลิกบุหรี่ รพ.จอมพระ จ.สุรินทร์

โรงพยาบาลจอมพระ มีคลินิกบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งการให้บริการดำเนินการร่วมกับงานบำบัดสารเสพติดในโรงพยาบาล ที่ผ่านมามีจำนวนผู้รับบริการน้อยมาก  ส่วนใหญ่เน้นให้ความรู้โทษพิษภัยบุหรี่ในโรงเรียน   เมื่อออกชุมชนร่วมกับหน่วย PCU  ทำให้ทราบว่าร้อยละ80 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ติดบุหรี่ ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตได้
ในปีงบประมาณ  2554ได้รับการสนับสนุนโครงการจาก สปสช. โดยเน้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สูบบุหรี่ตระหนักถึงสารที่อยู่ในบุหรี่มีผลทำให้การรักษาโรคไม่ได้ผลเท่าที่ควรจึงควรหยุดสูบบุหรี่  โดยมีแนวทางการดำเนินงานจากคู่มือเวชปฏิบัติการบำบัดรักษาโรคติดบุหรี่ ปี 2552   เมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลบริการผู้ป่วยนี้ด้วย ยอมรับว่ารู้สึกแย่มากๆ เพราะยังไม่เคยผ่านการอบรมตามหลักสูตร ทำให้ขาดทักษะการสร้างแรงจูงใจ แต่ก็พยายามทำอย่างเต็มที่ หน่วยงานอื่นเน้นการประชาสัมพันธ์การบริการซึ่งได้เปิดบริการทุกวันศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น.   ผลการดำเนินงานในปี 2554 เป็นในเชิงปริมาณมากกว่า การบันทึกข้อมูลในเวชระเบียนยังไม่สมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ ซึ่งเป็นโอกาสในพัฒนาในปีต่อไป    
ในปี 2555  สสจ.สุรินทร์ร่วมกับ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ได้จัดอบรมทักษะการสร้างแรงจูงใจการบริการในคลินิกเลิกบุหรี่ รูปแบบ 5A ,5R ให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้มีทักษะและมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น  จากการร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพในชุมชนกับหน่วย PCU จอมพระมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมายทำให้ทราบว่า ในความเป็นจริงการเลิกบุหรี่เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก ถ้าผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มีความตระหนักและตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง ภายในระยะเวลา 1 เดือน  
Case ที่ทำให้รู้สึกประทับใจและมีแรงบันดาลใจในการทำงานโดยไม่รู้สึกย่อท้อ มี 2 ราย  
รายแรก พาภรรยามาฝากครรภ์ เข้าโครงการโรงเรียนพ่อแม่  มองเห็นข้อความประชาสัมพันธ์ สิ่งดีๆที่คุณจะได้เมื่อคุณเลิกสูบบุหรี่ จึงเข้าไปสอบถามและบอกว่าเขาพยายามเลิกบุหรี่หลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ  เราจึงถาม เหตุผลที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ และวิธีที่ใช้ในการเลิกสูบ มีวิธีใดบ้าง  คำตอบที่ได้รับคือ  เป็นผู้นำชุมชนที่ต้องเข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมอำเภอบ่อยครั้งซึ่งสูบบุหรี่ไม่ได้ , ต้องการเป็นแบบอย่างในชุมชนและสุดท้ายไม่ต้องการให้ภรรยาและบุตรเป็นคนสูบบุหรี่มือสองและสาม วิธีที่เคยใช้คือหยุดสูบโดยการหักดิบเหมือนเพื่อนที่เคยเลิกสูบได้แล้ว  แต่ไม่รู้วิธีการดูแลตนเองหลังการเลิกบุหรี่ ทำให้เลิกไม่สำเร็จ  ผู้ป่วยรายนี้ เราถือได้ว่าเป็นผู้ป่วยมีต้นทุนการเริ่มต้นที่ดี ได้ชื่นชมและให้กำลังใจในการทำต่อ แนะนำเพิ่มให้จัดการกับสิ่งกระตุ้นให้อยากสูบบุหรี่คือการทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ทั้งหมด และร่วมกับการใช้ชารางจืด ชงดื่มตอนเช้าวันละ1 ซองเป็นเวลา  5 วัน เข้าอบสมุนไพรช่วยขับสารนิโคติน ทุกวันศุกร์ในระยะเวลา 1 เดือน ผู้ป่วยมาบอกว่าเลิกสูบได้ 1 เดือนแล้วดีใจมากและตั้งมั่นจะไม่กลับไปสูบอีก จะไปบอกเพื่อนๆที่สูบบุหรี่และผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ให้มารับบริการได้ที่รพ.จอมพระ   
รายที่  2  เป็นสามีของอสม.ในเขตรับผิดชอบเมื่อได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่แล้วนำไปบอกสามีซึ่งสูบบุหรี่  สามีเห็นความสำคัญเรื่องสุภาพจึงสมัครใจเข้ามาบำบัดด้วยตนเอง เราใช้วิธีเดียวกันคือ การให้คำปรึกษา หักดิบและอบสมุนไพร ในระยะเวลา 1เดือน ซึ่งเมื่อสภาพร่างกายปรับตัวได้ปกติแล้ว ติดตามดูอาการ อีก 3-4 เดือน ป้องกันการกลับไปสูบ
กรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ส่วนใหญ่เข้ารับบริการโดยการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ป่วยในขณะบริการ ทราบว่า บางรายเคยเลิกสูบแล้วหลายปี กลับมาสูบใหม่เมื่อเห็นคนอื่นสูบและจะตั้งใจเลิกใหม่  บางรายไม่ขอเข้าคลินิกพยายามเลิกเองดูก่อน พบว่ายังเลิกสูบไม่ได้ บางรายบอกว่าเลิกไม่ได้เพราะมีความเครียดเรื่องงาน ครอบครัว และมีหลายรายที่บอกว่าจะพยายามเลิกให้ได้และจะปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจและมีพลังที่จะดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อไป
ด้วยเข็มมุ่งที่ว่า  1. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องบ่อยครั้ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก  
                              2. ให้เวลาเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยวิธีที่ตัวเองคิด  
                              3. ให้กำลังใจเพื่อเสริมแรง ชื่นชมสิ่งดีๆที่ทำ  
                             4. ติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่อง   
ถ้าวันนี้คุณยังเลิกสูบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้พยายามลดลงเรื่อยๆเพื่อสุขภาพของตนเอง  วันหนึ่งเมื่อคุณรู้ว่าบุหรี่ มีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์ วันนั้นคุณคงจะเลิกสูบโดยไม่ต้องมีใครต้องร้องขอ  

วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

CQI แผนกส่งเสริมสุขภาพ ปี 2555 รพ.ค่ายวีรวัฒน์โยธิน สุรินทร์


CQI แผนกส่งเสริมสุขภาพ ปี 2555
1. ชื่อผลงานเพราะรัก...จึงห่วงใย โปรแกรมเลิกบุหรี่ช่วยได้
2. คำสำคัญ  :  พฤติกรรม บุหรี่ คาร์บอนมอนออกไซด์
3. สรุปผลงานโดยย่อ  การปรับเปลี่ยนวิธีการเลิกบุหรี่  โดยใช้การมีส่วนร่วม การให้ความสำคัญว่าการเลิกบุหรี่เป็นนโยบายของหน่วยงาน การให้กำลังใจจากผู้นำองค์กร การติดตามและการกระตุ้นให้เห็นโทษภัยของบุหรี่เป็นระยะ ๆ สามารถลดระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ ในกลุ่มเป้าหมายได้สำเร็จ
4. ชื่อและที่อยู่ขององค์กร  : แผนกส่งเสริมสุขภาพ โรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน
5. สมาชิกทีม  : พ.ต.หญิงเสาวณีย์          ทวีวานิชย์
                   ร.ท.หญิงพลอยไพลิน      ภูมิงาม
                   จ.ส.อ.หญิงกมลพร         ฉลวยศรี
                   นางพัชรา                  เพ็ชรดี
6. เป้าหมาย  : ระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ ลดลง 50 %
7. ปัญหา และสาเหตุโดยย่อ  :  จากการสำรวจข้อมูลบุคลากรที่สูบบุหรี่ของโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธิน โดยแผนกส่งเสริมสุขภาพ ในปี พ.ศ. 2555 พบว่า มีบุคลากรที่สูบบุหรี่จำนวน 22 ราย  คิดเป็นร้อยละ 15.49  ทั้งหมดเป็นบุคลากรเพศชาย จากการตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในการรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่ที่ผ่านมานั้นมีลักษณะ เป็นการห้าม  การตักเตือน ซึ่งวิธีการดังกล่าวไม่สามารถทำให้บุคลากรผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ได้
8. การเปลี่ยนแปลง : โดยการปรับเปลี่ยนกระบวนการในการเลิกสูบบุหรี่ ดังนี้
ขั้นเตรียมการ
1.       สำรวจสาเหตุการสูบบุหรี่ และความต้องการในการเลิกสูบบุหรี่
          2.  ศึกษาโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อการเลิกสูบบุหรี่
          3.  ปรับรูปแบบของกิจกรรมหรือโปรแกรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลิกสูบบุหรี่ให้เหมาะสมกับบุคลากรโรงพยาบาล โดยการจัดกิจกรรม ดังต่อไปนี้ 
ครั้งที่ 1
                   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวีรวัฒน์โยธินประกาศนโยบายโรงพยาบาลปลอดบุหรี่
                   ตรวจวัดระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ในปอดก่อนเข้าโปรแกรม
                   ผู้ร่วมโครงการลงนามสัญญาการเลิกบุหรี่
                   ให้ความรู้เรื่องโทษและพิษภัยของการสูบบุหรี่
ครั้งที่ 2
                   ติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่โดยการวัดระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ในปอด
                   ให้คำแนะนำ แจกสื่อความรู้เครื่องมือช่วยในการเลิกบุหรี่
ครั้งที่ 3
                   ติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่โดยการวัดระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ในปอด
                   กิจกรรมกระตุ้นเตือนในเรื่องโทษและพิษภัยของการสูบบุหรี่ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพโดย
วีดีทัศน์
                   ให้คำแนะนำ แจกสื่อความรู้เครื่องมือช่วยในการเลิกบุหรี่
ครั้งที่ 4
                   กิจกรรมกระตุ้นเตือนและให้คำปรึกษาในเรื่องการปฏิบัติตัวในการเลิกสูบบุหรี่
                   ติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่โดยการวัดระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ในปอด
                   แจกสื่อความรู้เครื่องมือช่วยในการเลิกบุหรี่
ครั้งที่ 5
                   กิจกรรมกระตุ้นเตือนและให้คำปรึกษาในเรื่องการปฏิบัติตัวในการเลิกสูบบุหรี่
                   ติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่โดยการวัดระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ในปอด
                   แจกสื่อความรู้เครื่องมือช่วยในการเลิกบุหรี่
ครั้งที่ 6
                   ติดตามพฤติกรรมการสูบบุหรี่โดยการวัดระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ในปอด
                   ให้คำแนะนำ แจกสื่อความรู้เครื่องมือช่วยในการเลิกบุหรี่
                   สำรวจพื้นที่ ที่มีบุคลากรสูบบุหรี่และกระตุ้นเตือนช่วงเวลาที่สำรวจช่วงเช้า09.00. 10.00 น. ช่วงบ่าย 15.00 -16.00 น.
                   กิจกรรมให้กำลังใจ  ให้หัวหน้าของผู้ที่กำลังเลิกสูบบุหรี่เขียนการ์ดให้กำลังใจ มอบให้แก่บุคลากรที่อยู่ในการปกครอง เพื่อเป็นกำลังใจในการเลิกบุหรี่ และสารการให้ กำลังใจจากผู้อำนวยการ

9. การวัดผล และผลของการเปลี่ยนแปลง :
ข้อมูล/ตัวชี้วัด
เป้าหมาย
2555
บุคลากรที่สูบบุหรี่สามารถเลิกบุหรี่ได้เพิ่มมากขึ้น
>10 %
9.09%
ร้อยละของบุคลากรที่สูบบุหรี่มีระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ในปอดลดลง
50%
61.90%

10. บทเรียนที่ได้รับ
                  การรณรงค์ให้เลิกสูบบุหรี่เดิมจะมีลักษณะ เป็นการห้าม  การตักเตือน พบว่า  บุคลากรไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้  เมื่อนำวิธีการมีส่วนร่วมของบุคลากร  ร่วมกับการกระตุ้นเตือน  และการประกาศนโยบายโรงพยาบาลปลอดบุหรี่อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร การให้กำลังใจจากผู้อำนวยการโรงพยาบาล อีกทั้งประกาศห้ามสูบบุหรี่ตั้งเป็นกฎระเบียบข้อบังคับในการปฏิบัติตนเพื่อเลิกบุหรี่ การเพิ่มมาตรการให้คุณให้โทษกับบุคลากรผู้ที่สูบบุหรี่ การเฝ้าระวัง การกระตุ้นเป็นระยะๆ   การติดตามบุคลากรที่เลิกบุหรี่ได้  แล้วนำมาประกาศให้เป็นบุคคลตัวอย่าง  สามารถทำให้มีบุคลากรเลิกบุหรี่ได้ 2 ราย และกลุ่มตัวอย่างมีระดับคาร์บอนมอนออกไซด์ ลดลงได้สำเร็จ





เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่ รพ.สนม สุรินทร์


เรื่องเล่าประสบการณ์จากการทำงานคลินิกฟ้าใส  (อดบุหรี่)
“ลุงแซมกับบุหรี่มวนเดียว”
โดย
นางสาวิตรี  ดาทอง
                        พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  
                       โรงพยาบาลสนม  อำเภอสนม  จังหวัดสุรินทร์

เรื่อง  “ลุงแซมกับบุหรี่มวนเดียว”

          ดิฉันเป็นพยาบาลทำงานประจำอยู่ที่โรงพยาบาลในชนบทแห่งหนึ่ง  เป็นโรงพยาบาลขนาด  30  เตียง  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  56  กิโลเมตร   มีแพทย์ประจำทั้งหมด   4  คน  (จริงแล้วเป็นแพทย์หมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่  ครบวาระ  1  ปีก็ย้าย)   เป็นถิ่นที่เกือบจะเรียกได้ว่ากันดารพอสมควร  เพราะว่าอำเภอที่ดิฉันทำงานอยู่เป็นอำเภอปิดคือไม่มีถนนที่จะเชื่อมต่อกับเส้นทางหลักในการสัญจรไปมา  ทำให้การเดินทางเข้าตัวจังหวัดในแต่ละครั้งลำบากพอสมควร  เพราะไม่มีรถโดยสารประจำทางที่เดินทางตรงเวลาเลย ดีไม่ดีก็ไม่มีรถที่จะเข้าตัวเมืองด้วยซ้ำ  ฉะนั้นไม่ต้องคิดถึงเรื่องความเจริญด้านต่างๆ  เลยคะ  ดิฉันได้รับความไว้วางใจจากท่านผู้อำนวยการ  ให้รับผิดชอบงานยาเสพติด  ชาวบ้านที่มารับบริการที่นี่จะรู้จักกันดีในนามของ  “คลินิกฟ้าใส”     เปิดบริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์  เป็นการให้บริการแบบครบวงจรในที่แห่งเดียวคือให้การดูแล  ตรวจรักษาและรับยาตรงนี้ได้เลย  เป็นบริการพิเศษที่คิดว่าผู้รับบริการจะมีความสะดวกและเกิดความพึงพอใจมากที่สุด  เพราะใคร ๆ  ก็ชอบการบริการเบ็ตเสร็จในขั้นตอนเดียว
         
          การบำบัดบุหรี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ดิฉันทำเป็นประจำและรับผิดชอบงานยาเสพติดอื่นๆ   ด้วย
การบำบัดบุหรี่ที่คลินิกของดิฉันนั้นจะต้องทำงานร่วมกับแผนกผู้ป่วยนอกที่มารับบริการโรคเรื้อรังต่าง ๆ  เช่น  โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ  โรคหอบหืด  โรคถุงลมโป่งพอง  และโรคหลอดเลือดสมอง  (ตามเกณฑ์ที่สปสช.กำหนด)  โรคต่าง  ๆ  ที่กล่าวมานี้  ดิฉันต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยทุกรายที่สูบบุหรี่  เพื่อที่จะประเมินการสูบบุหรี่  ให้คำแนะนำ  ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ที่มีผลต่อร่างกาย  ภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ  และชักชวนเข้าคลินิกฟ้าใสเพื่อให้การบำบัดบุหรี่  ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลด  ละ  เลิกบุหรี่ได้ในที่สุด

          ลุงแซม  ชายวัยผู้ใหญ่  รูปร่างสันทัด  ผิวดำแดง  สวมใส่เสื้อผ้าสะอาดสะอ้านดี  แกเป็นผู้ป่วยรายหนึ่งที่ดิฉันพบที่คลินิกโรคหอบหืดและโรคถุงลมโป่งพอง  แกมีโรคประจำตัวคือเป็นโรคถุงลมโป่งพองและเป็นโรคไทรอยด์ด้วย  ตาโปนเล็กน้อย  ท่าทางเหนื่อยหอบพอสมควรสุขภาพทั่วไปในขณะนั้นไม่ค่อยจะแข็งแรงเท่าไหร่  แกมาตรวจที่คลินิกตามนัด  จากการซักประวัติพบว่าลุงแซมสูบบุหรี่อยู่วันละ  3  -  4  มวน  เป็นบุหรี่มวนเอง  แกซื้อบุหรี่จากร้านค้าในหมู่บ้าน  ห่อละ  5  -  10   บาท  ห่อหนึ่งจะสูบได้ประมาณ  วัน  แกจะมวนยาสูบเองคล้ายกับผู้สูบบุหรี่อื่น ๆ  ในหมู่บ้าน  จึงเป็นโอกาสดีของดิฉันที่จะได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ที่มีต่อโรคถุงลมโป่งพองและโรคไทรอยด์ที่ลุงแซมแกเป็นอยู่ว่า  “การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยมากและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  นะลุง  ยาที่หมอให้ไปจะใช้ไม่ค่อยได้ผลเพราะว่าในบุหรี่มีสารพิษมากมายที่ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง  ลุงเป็นทั้งไทรอยด์ด้วย  การสูบบุหรี่อยู่จะทำให้ควบคุมอาการของโรคยากมากขึ้น  พูดง่าย  ๆ  คือยาจะใช้ไม่ได้ผลนั่นเอง”  ลุงแซมแกทำท่าเหมือนจะเข้าใจ  และรับฟังด้วยความตั้งใจ  อาจเป็นเพราะว่าแกมีอาการหอบเหนื่อยอยู่ด้วยก็ได้  ทำให้แกตั้งใจฟังเป็นอย่างดี  บางครั้งแกก็พยักหน้าเห็นด้วย  แต่แกไม่พูด  ดิฉันจึงถามแกว่า  “ถ้าหมอจะนัดมาเข้าคลินิกเพื่อเลิกบุหรี่  ลุงยินดีที่จะมาไหม”  และดิฉันก็พูดถึงความสำคัญที่ต้องเลิกบุหรี่ให้แกเข้าใจ  แกก็บอกว่า  “มาก็ได้”  จากนั้นดิฉันจึงเขียนใบนัดให้แกมารับบริการบำบัดบุหรี่ที่คลินิกฟ้าใสในอีก  1  สัปดาห์

          วันนัดครั้งที่  1   ลุงแซมเดินถือใบนัดมาที่คลินิกฟ้าใส  แกมาคนเดียว  ดิฉันก็ทักทายและพูดคุยเรื่องต่าง  ๆ  เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคย  ก่อนที่จะนำเข้าสู่เรื่องการสูบบุหรี่  ลุงแซมให้ความเป็นกันเอง  ยิ้มแย้มแจ่มใสดี  ดิฉันสังเกตว่าแกดูไม่หอบเหนื่อยเหมือนวันที่เจอกันที่คลินิกโรคหอบหืดเลย   เมื่อมีความคุ้นเคยกันมากขึ้นแกดูเป็นกันเองแล้วดิฉันจึงเริ่มซักประวัติการสูบบุหรี่  การติดนิโคติน  และประเมินอาการต่าง  ๆ  แล้ว  ดิฉันจึงถามลุงแซมว่า    “ลงแซมสูบบุหรี่อยู่วันละกี่มวนคะ”  ลุงแซมบอกว่า  “หลังจากที่ได้คุยกับคุณหมอเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว  จากที่เคยสูบบุหรี่วันละ  3  -  4  มวนนั้น   ลุงก็พยายามลดลง  ตอนนี้เหลือสูบอยู่วันละ  1  มวน”  ลุงแซมพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม  ดิฉันนึกดีใจ  อย่างน้อยสิ่งที่พูดในวันนั้นก็ทำให้ลุงแซมเห็นความสำคัญ  และลดการสูบบุหรี่ลงได้    ดิฉันยิ้มชื่นชมในสิ่งที่ลุงแซมทำได้  และให้กำลังใจในการที่จะพยายามลดบุหรี่อีก  1 มวนให้ได้  ดิฉันมองเห็นความสำเร็จของลุงแซมแล้ว  คิดว่าลุงแซมต้องทำได้แน่นอน  ดิฉันจึงพูดถึงโรคที่เป็นอยู่และถามลุงแซมว่า  “หลังจากที่สูบบุหรี่ลดลงอาการเหนื่อยหอบและอาการไทรอยด์ทุเลาลงไหมคะ?”    ลุงแซมก็บอกว่า  “ไอหอบลดลง  กลางคืนก็หายใจดีขึ้น  ไม่ค่อยมีเสลด  แต่ก็ยังมีหอบกลางคืนเป็นบางวัน  แต่ดีขึ้นกว่าเดิม  มันยังติดอยู่ที่บุหรี่  1  มวนนี้แหล่ะ  ยังเลิกไม่ได้”  ดิฉันจึงแนะนำวิธีการเลิกบุหรี่อีกหนึ่งมวนนี้ให้ลุงแซม   โดยการกำหนดวันให้ลุงแซมภายในหนึ่งอาทิตย์  บุหรี่  1  มวนนี้ต้องเลิกได้ในวันใดวันหนึ่ง  ลุงแซมรับปากว่าจะทำให้ได้  หลังจากนั้นก็คุยกันเกี่ยวกับวิธีการเลิก  การเอาชนะอาการหงุดหงิด  อาการโมโห  และอาการกระวนกระวายเมื่อเกิดอยากบุหรี่หรือที่เราเรียกว่าการขาดนิโคตินนั่นเอง  ลุงแซมเข้าใจและคิดว่าจะต้องจัดการกับอาการต่าง  ๆ  นี้ได้  ก่อนกลับบ้านวันนั้นดิฉันบอกกับลุงแซมว่า  “หมอจะเป็นกำลังใจให้ลุงแซมเอาชนะบุหรี่มวนเดียวนี้ได้นะคะ  อีก  อาทิตย์เราค่อยมาพบกันตามนัดนะคะ  หมอคิดว่าลุงแซมทำได้แน่นอนคะ”  ลุงแซมยิ้มอย่างมีความสุข   และบอกกับดิฉันว่า  “จะพยายามทำตามที่คุณหมอบอก”  ดิฉันยื่นใบนัดครั้งที่  2 ให้แล้วลุงแซมก็กลับบ้านไปด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเช่นเคย

          วันนัดครั้งที่  2   มาถึงลุงแซมเดินมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเหมือนเดิม  ดิฉันก็ทักทายตามปกติเช่นเคย  “ดีใจนะคะที่ลุงแซมมาตามนัด”  ลุงแซมยิ้มไม่พูดว่าอะไร  หลังจากนั้นดิฉันก็คุยเรื่องทั่วๆ  ไปเป็นการทักทายและสร้างสัมพันธภาพเหมือนเดิมก่อนที่จะถามถึงเรื่องการสูบบุหรี่  “วันนี้เราก็จะคุยกันถึงเรื่องการเลิกบุหรี่ของลุงอีกนะคะ  อาการของลุงดีขึ้นไหม?”    ลุงแซมบอกว่า  “ดีขึ้นนะ  นานๆ  จะหอบที  แต่ลุงยังเลิกไม่ได้เลย  ยังเหลือ  1  มวนนี่แหล่ะ”  จากคำบอกเล่าของลุงแซมทำให้ดิฉันเริ่มสงสัยว่าบุหรี่แค่มวนเดียว  ทำไมลุงแซมทำไม่ได้  ทั้ง  ๆ  ที่แต่ก่อน  4   มวนลุงแซมยังทำได้  ดิฉันจึงถามลุงแซมทันทีว่า  “เพราะอะไรลุงถึงยังสุบอยู่มวนเดียวคะ?”  ลุงแซมบอกว่า  “  มีอาการหงุดหงิดอยู่ทนไม่ได้เลย”  ดิฉันก็ถามต่ออีกว่า  “ 1  มวนที่สูบอยู่ลุงสูบช่วงไหนคะ?”    ลุงแซมบอกว่า  “ก็สูบตอนเช้า  สายๆ  อีก  บางครั้งก็สูบหลังจากทานข้าวเที่ยงเสร็จ”  ดิฉันยิ่งสงสัยมากขึ้นว่าทำไมบุหรี่มวนเดียวถึงสูบได้นานจัง  แต่ลุงแซมแกก็อธิบายให้ฟังอีกว่า  “ก็สูบมวนเดียวนั่นแหล่ะ  ช่วงเช้าสูบหนึ่งถึงสองอึกพอได้กลิ่นบุหรี่แล้วรู้สึกดีก็ดับบุหรี่แล้ววางไว้  สาย  ๆ หิวอีก  ก็หยิบบุหรี่ที่วางไว้นั่นแหล่ะมาสูบอีกหนึ่งถึงสองอึกก็ดับบุหรี่แล้ววางไว้อีก  เอาไว้สูบอีกตอนเที่ยง  ก็เป็นบุหรี่มวนเดียวกันนั่นแหล่ะ  บางครั้งก็สูบได้เกือบทั้งวันเลย  ก็บุหรี่มวนเดียวนี่เอง”  ลุงแซมเล่าทำให้ดิฉันนึกภาพออกได้ทันที  เป็นแบบนี้นี่เอง  ลุงแกถึงบอกว่าเลิกไม่ได้  เพราะบุหรี่มวนเดียวแต่สูบหลาย  ๆ  อึก  หลาย  ๆ  ครั้งของแกนี่เอง  ดิฉันเริ่มมองเห็นภาพแล้ว  ทำให้คิดได้ว่าที่แท้แกติดบุหรี่มวนเดียวจริง  ๆ  อย่างที่แกบอก  ตั้งแต่บำบัดมามีแกนี่แหล่ะที่แปลกที่สุด  บุหรี่มวนเดียวสูบได้ทั้งวัน  ก็ไม่ต่างกันกับคนที่สูบบุหรี่วันละ   5   มวนเลย   พอรู้สาเหตุที่มาที่ไปของบุหรี่มวนเดียวแล้ว  ดิฉันก็คุยกับลุงแซมเรื่องการเลิกบุหรี่มวนเดียวใหม่  โดยการทำข้อตกลงกันให้ชัดเจนมากขึ้น  แนะนำวิธีการใหม่และเทคนิคใหม่ให้แก  แกรับปากว่าคราวนี้จะทำให้ได้  หลังจากนั้นดิฉันจึงนัดหมายในครั้งต่อไปอีกหนึ่งอาทิตย์

          วันนัดครั้งที่  3  มาถึง  ลุงแซมมาที่คลินิกเหมือนเดิม  คราวนี้ลุงแซมยิ้มหน้าตาสดใสกว่าทุกครั้ง  เราได้คุยกันเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่อีก  ลุงแซมบอกว่า  “ไม่ได้สูบหลังจากที่มาหาหมอวันนั้นนั่นแหล่ะ  ลุงหยุดได้  6  วันแล้ว  แรก  ๆ  ก็หงุดหงิดมากเหมือนกันแต่พอทำตามวิธีที่หมอบอกก็ทนได้”  แรก  ๆ   ที่แกบอกดิฉันคิดว่าจริงหรือเปล่า  กลัวจะเป็นเหมือนบุหรี่มวนเดียวที่แกบอกอีก  จึงพยายามซักถามรายละเอียดการหยุดสูบบุหรี่ของแกมากขึ้น   คราวนี้แกยืนยันว่าแกไม่มีบุหรี่พกติดตัวเลย  ไม่ใช้บุหรี่แล้วซ้ำยังเหม็นกลิ่นบุหรี่ที่คนอื่นเค้าสูบกันอีก  อาการหอบเหนื่อย  อาการไอก็ดีขึ้น”  แกพูดด้วยสีหน้าท่าทางจริงจังมาก  ดิฉันเชื่อในสิ่งที่แกพูด  และอดชื่นชมแกไม่ได้  จึงให้กำลังใจและแนะนำการป้องกันการกลับมาเสพซ้ำให้แก  แกบอกว่า  “ไม่แล้วพอแล้ว  กว่าจะเลิกได้มันทรมานเหมือนกัน”   หลังจากนั้นดิฉันจึงนัดหมายให้แกมาพบอีกครั้งในอาทิตย์หน้า  จะครบโปรแกรมการบำบัดบุหรี่ที่คลินิกฟ้าใส 

          วันนัดหมายครั้งที่  4  ลุงแซมมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมากกว่าเดิม  วันนี้แกบอกว่า  “วันนี้ลุงมาที่คลินิกหอบหืดด้วย  อาการดีขึ้นมากตั้งแต่ไม่มีควันบุหรี่  ไม่ไอ ไม่หอบ  นอนหลับดี”   ดิฉันก็ทักทายลุงแซมและเรามีความคุ้นเคยกันมากขึ้น  กิจกรรมครั้งสุดท้ายของการนัดบำบัดก็จะเน้นให้ลุงแซมมีความมั่นใจ  มีกำลังใจและไม่กลับไปเสพบุหรี่ซ้ำอีก  และคุยกับลุงแซมเรื่องการติดตามเยี่ยมที่บ้านเพื่อเป็นการฟื้นฟูและป้องกันการกลับไปเสพบุหรี่ซ้ำนั่นเอง  ลุงแซมเข้าใจและยินดีที่หมอจะไปเยี่ยมที่บ้าน  ดิฉันจึงได้เขียนใบนัดหมายว่าติดตามเยี่ยมบ้านวันใดบ้าง  หลังจากนั้นดิฉันจึงให้ลุงแซมกลับไปรับยาโรคถุงลมโป่งพองตามนัดหมายที่คลินิกโรคเรื้อรังต่อไป

          กิจกรรมการบำบัดบุหรี่เป็นเรื่องของการเข้าถึงทั้งตัวบุคคล  ปัญหาและสาเหตุต่าง  ๆ   การมีสัมพันธภาพที่ดี  และที่สำคัญต้องมีการสังเกตแม้แต่เรื่องเล็ก  ๆ  น้อย  ๆ  บางครั้งเราก็มองผ่านไปทำให้เรามองไม่เห็นปัญหา  การแก้ปัญหาจึงไม่ได้ผล  เช่นเดียวกับเรื่องของลุงแซมที่ตัวดิฉันเองมองข้ามผ่านไปว่าแค่บุหรี่มวนเดียวยังไงลุงแซมต้องทำได้  แต่จริง ๆ  แล้วไม่ใช่เลย  ตอนนี้ดิฉันกับลุงแซมก็ยังติดต่อกันในเรื่องของการติดตามเยี่ยม  ดิฉันดีใจที่แกเลิกบุหรี่ได้  ถึงตอนนี้เป็นระยะเวลาเกือบ   3  เดือนแล้วที่แกเลิกยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่โดยเด็ดขาด  แกมาตามนัดที่คลินิกโรคเรื้อรังสม่ำเสมอ  สุขภาพของแกดีขึ้นมาก  ไม่ค่อยหอบเหนื่อยบ่อยเหมือนแต่ก่อน  อาการของไทรอยด์ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ  ไม่แสดงอาการกำเริบ  ดิฉันดีใจที่เห็นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น  และดิฉันก็มีกำลังใจในการที่จะบำบัดบุหรี่ให้กับผู้รับบริการทุกคนที่สนใจจะเลิกบุหรี่ด้วยความยินดียิ่งคะ 



เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่ รพ.สำโรงทาบ สุรินทร์



การฝ่าฟันหนทาง สร้างโรงพยาบาลปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน
ตอน  ขอบคุณค่ะ ผู้กำกับฯ
          “คุณพยาบาลครับ หลังเลิกประชุมพบผมหน่อยนะครับ”  ผู้ที่เป็นพยาบาล (หนึ่งเดียวในที่ประชุมอำเภอ) รู้สึก.วาบๆ !! พิกล ก็จะไม่ให้รู้สึกเช่นนั้นได้อย่างไรคะ ในเมื่อผู้พูดนั้น เป็นถึงขั้นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร สภ.  ถึงจะวาบแต่ก็ไม่สะทกสะท้านเพราะเราไม่ได้กระทำสิ่งใดผิด
          โรงพยาบาลของเราเป็นโรงพยาบาลบ้านนอก อยู่ในต่างจังหวัด เป็นจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศกัมพูชา (แต่ไม่ได้อยู่เขตชายแดนค่ะ)   เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง  เป็นแหล่งฝึกงานของพยาบาลชาวกัมพูชา  ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลของเราไม่ได้อยู่เขตชายแดน แต่เหตุผลที่เป็นแหล่งฝึกงานเนื่องจากท่านผู้อำนวยการของเราสามารถพูดภาษากัมพูชาได้ค่ะ  เราเป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 บรรยากาศน่าอยู่ ไร้ควันบุหรี่  เจ้าหน้าที่ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างดี ทั้งงานในหน้าที่ ที่อยู่ตรงหน้า(หน้าที่หลัก) และงานนอกหน้าที่ คืองานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย (หน้าที่รอง....ซึ่งมีมากมายเสียด้วย) หนึ่งในงาน ของหน้าที่รอง ของบุคลากรโรงพยาบาลของเรา ก็คือ งานช่วยค้นหาผู้ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ในเขตโรงพยาบาล  (พูด ให้เข้าใจง่ายๆก็คือการสำรวจ ค้นหาผู้ที่สูบุหรี่ในเขตโรงพยาบาลของเรานั่นเอง ) เนื่องจากเรามีข้อปฏิบัติร่วมกันว่า เมื่อพบผู้สูบบุหรี่ให้ช่วยเตือนและขอความร่วมมือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ด้วย หรือไม่ก็ชวนให้ผู้สูบบุหรี่เข้าคลินิกอดบุหรี่ของโรงพยาบาลซะ  และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะแจ้งผลงานให้พยาบาลผู้รับผิดชอบทราบ เพื่อจะได้บันทึกผลการแจ้งฯ ลงในสมุดรับแจ้งการสูบบุหรี่ในเขตโรงพยาบาลด้วย เพราะจะเป็นผลงานที่จะทำให้เขาได้รับรางวัลเมื่อสิ้นปีงบประมาณ  พวกเราชาวโรงพยาบาลทำจนเป็นวัฒนธรรมแล้ว ส่งผลให้โรงพยาบาลมีอากาศที่บริสุทธิ์ปราศจากควันบุหรี่ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีคนสูบเลยนะคะ นานๆครั้งจะพบคนสูบ   ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าขายของที่มาจากต่างถิ่นที่ไม่ทราบนโยบายของเราหรือ ทำเป็นไม่รู้กฎหมาย  ไม่สนใจป้ายห้ามสูบที่เราติดไว้ทั่วโรงพยาบาล  (คุ้นๆตานะคะ คนประเภทนี้  ที่เรามักจะเห็นจนเกลื่อนเมืองไทย)  และที่พบบ่อยคือ ก้นบุหรี่ที่หน้าทางเดินขึ้นตึกผู้ป่วยใน ซึ่งส่วนใหญ่พบแต่ร่องรอยการสูบเนื่องจากช่วงค่ำๆ  จะมีญาติมาเยี่ยมผู้ป่วยจำนวนมากทุกวัน  นี้เป็นโอกาสพัฒนาที่เรากำลังหาทางแก้ไขอยู่ เนื่องจากเราเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีคุณยามช่วยดูแลช่วงกลางคืน   แต่ประชาชนในสิ่งพื้นที่ ส่วนใหญ่ทราบนโยบายของโรงพยาบาลอยู่แล้ว  เนื่องจากทางโรงพยาบาลได้บันทึกเสียงที่ของท่านผู้อำนวยการที่กล่าวประชาสัมพันธ์นโยบายและข้อตกลงของโรงพยาบาลไว้ในแผ่นซีดี แจกให้กับทุกหมู่บ้านเพื่อเปิดที่หอกระจายข่าวทุกๆวัน นอกจากนี้ในช่วงเวลา08.30-08.40น.ของทุกวันเวลาราชการโรงพยาบาลจะเปิดเสียงตามสายที่เป็นเสียงท่านผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์นโยบายและข้อตกลงของโรงพยาบาลให้กับเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการได้รับฟังและรับทราบ  เมื่อเราพยายามทำให้พื้นที่สูบบุหรี่มีน้อยลง  ทำให้มีคนมาเลิกบุหรี่กับเราเพิ่มขึ้น  ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ที่ต้องให้คำปรึกษากับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ทุกวัน  แต่เป็นการเหนื่อยที่ คุ้มค่า ปิติสุข น่าภูมิใจยิ่งนัก  เจ้าหน้าที่กู้ชีพในชุมชนก็พลอยเลิกบุหรี่ไปด้วย  ภาพเดิมๆที่เราเคยเห็นคือ เมื่อเขามาส่งผู้ป่วยหนักหรือผู้ประสบอุบัติเหตุ จนถึงมือหมอและพยาบาลแล้ว  เขาจะรีบควักบุหรี่มาจุดสูบทันที  ในขณะที่รอฟังผลการตรวจรักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเพราะคนที่ติดบุหรี่ มักจะเครียดง่ายอยู่แล้ว
ยิ่งเมื่อต้องทำหน้าที่แบบนี้ ต้องเครียดกันทุกคน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย บางกรณีเป็น-ตายเท่ากัน    แต่เมื่อโรงพยาบาลของเราเป็นเขตปลอดบุหรี่  ทำให้เขาหาที่สูบยาก จึงจำเป็นต้องเลิกในที่สุด ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ช่วยผลักดันนโยบายโรงพยาบาลปลอดบุหรี่จนเป็นรูปธรรมขนาดนี้ และสามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  นึกทีไร   รู้สึกภูมิใจ   และอิ่มบุญทุกที
ความรู้สึกดีๆ เริ่มมาสะดุด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เนื่องจากโรงพยาบาลของเราได้แฟลตใหม่ (ที่จริงน่าจะดีใจนะที่ได้ที่อยู่เพิ่มเป็นแฟลตตั้ง 4 ชั้นแน่ะ สะดุดทำไม) ที่ว่าสะดุดเนื่องจาก มีคนงานก่อสร้างจำนวนมาก และมีจำนวนหนึ่งที่สูบบุหรี่  ได้ปรึกษาร่วมกันกับคณะกรรมการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ มติที่ประชุมคือ ให้พ่อบ้าน(หัวหน้าฝ่ายบริหารฯ) เป็นผู้ไปเจรรากับผู้ควบคุมการก่อสร้างแจ้งถึงนโยบายของเรา  ซึ่งช่วยได้บ้างแต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์  แก้ไขโดยโทรประสานผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็ ……เงียบ.......…   อยู่มาวันหนึ่ง คนงานก่อสร้างประสบอุบัติเหตุ ถูกไม้ตกใส่ศีรษะจนเป็นแผล มาทำแผลที่โรงพยาบาล บางคนเป็นหวัดมาตรวจพยาบาลก็ค่อยๆ เลียบเคียงถามสถานการณ์ ทราบว่าผู้คุมฯสูบเอง  ตัดสินใจลงไปเจรราด้วยตนเอง บุกเดี่ยว  แต่ก็สำเร็จค่ะ (แอบสร้างสายลับอยู่ในกลุ่มคนงานหญิง 1 คน เพื่อคอยแจ้งข่าว)  สอบถามคนงานบอกว่า เวลาเขาอยากสูบ เขาจะออกไปนอกโรงพยาบาลค่ะ   เฮ่อ! โล่งใจ..............  เมื่อแฟลตสร้างเสร็จได้กล่าวขอบคุณผู้คุมฯและสายลับที่ให้ความร่วมมือ
 แต่โล่งใจได้ไม่นาน ปี 2555 ทำให้พวกเราต้องหนักใจอีก เนื่องจากโรงพยาบาลได้งบประมาณสร้างอาคารห้องคลอดห้องผ่าตัด....คณะทำงานเตรียมวางแผนรับสถานการณ์ คราวนี้ก็ดำเนินการเหมือนเดิมคือมอบหมายพ่อบ้านเป็นผู้ไปเจรากับผู้ควบคุมการก่อสร้าง  พบปัญหาใหม่คือ คนงานก่อสร้างเป็นชาวกัมพูชา
ผู้ควบคุมการก่อสร้างเป็นคนไทย คุยกันไม่รู้เรื่อง  แต่ก็เป็นความโชคดีที่พยาบาลพูดภาษาถิ่นของจังหวัดได้ (ภาษาเขมร) ได้ลงไปเจราแจ้งเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 เขาก็รับฟังค่ะ แต่ไม่ปฏิบัติตาม จึงได้ขอความร่วมมืออีกครั้ง ....
 “กะมัยจั๊วะเน้อ เคาะกดมาย ตันรูด นึงโมจั๊บ” เสียงพยาบาลพูดภาษาเขมรพูดเชิงขอร้องว่าไม่ให้สูบบุหรี่เนื่องผิดกฎหมายไทยเดี๋ยวตำรวจจะมาจับนะ...   เขาพูดสวนมาว่า “อ๊อดจั๊วะ เคิงบ๊อ” แปลว่า ไม่ได้สูบเลยนะ เห็นเหรอ?...  พยาบาลได้เอารูปในมือถือให้ดู เขาจึงพูดไม่ออก.........  (นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ใครจะทำงานนี้ควรมีมือถือที่ถ่ายรูปได้หรือมีกล้องติดตัวเสมอจ้า.....)
  เหนื่อยนะในสถานการณ์แบบนี้ อันที่จริงแล้ว  ถ้าตำรวจเขาทำหน้าที่ของเขา เราจะไม่ต้องเสี่ยงชีวิตขนาดนี้เลย  ศึกเขมรผ่านไปศึกไทยมาอีก  ดูๆไปเหมือนตนเองเป็นโรคจิตนะ จมูกเนี่ย ดี๊ดี ได้กลิ่นบุหรี่เมื่อไหร่ จะเดินไปตามกลิ่นทันที มีช่วงหนึ่งช่วงต้นปีที่คนงานก่อสร้างเข้ามามากมาย เวลาเที่ยงกว่าๆจะเริ่มได้กลิ่นแล้ว  เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ OPD บอกว่า “คุณนั่นแหละไปพิสูจน์กลิ่น” ภารกิจนี้ ต้องใช้เวลาตามหาที่มาของกลิ่นตั้ง 3 วัน ด้อมๆมอง ทำจมูกฟุตๆฟิต เหมือนอะไรก็ไม่รู้ (ได้กลิ่นบุหรี่เฉพาะช่วงเที่ยงกว่าๆ) พบว่า เป็นคนงาน คนไทย นั่งสูบบุหรี่อยู่ใต้ทางเดินเชื่อมระหว่างตึก  (เขามีความพยายามมากเลยค่ะ เนื่องจากใต้ถุนมีแต่ต้นไม้ใบหญ้า เขายังซุ่มสูบได้  เห็นแล้วพบความเสี่ยงทันที...เสี่ยงด้านอัคคีภัยค่ะ)
  พยาบาลสอบถามว่า “ได้กลิ่นควันบุหรี่ค่ะ.....มีใคร สูบมั๊ยค๊า”
 เขาตอบกลับมาว่า “ไม่มีหรอกหมอ...ทำไมจมูกดีจัง”
ตอนนั้นเราทำอะไรเขาไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐาน  จึงได้ปรับกลวิธีใหม่ ภารกิจจับโจร(สูบบุหรี่) จึงเริ่มขึ้น  ได้เข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือจากผู้ควบคุมการก่อสร้างอีกครั้ง แจ้งว่ามีคนเห็นคนงานท่านสูบบุหรี่  และได้บอกว่า  “ต่อไปขออนุญาตถ่ายรูปนะคะเพื่อเป็นหลักฐานทางกฎหมาย” พยาบาลได้แจ้งผู้คุมฯให้ทราบเพื่อให้รู้ว่าเราเอาจริง ....แต่คนงานเขาก็ระวังตัวเองเหมือนกัน เมื่อได้ยินเสียงฝีเท้าของนักสืบ เขาจะหยุดสูบและทำเป็นขยี้ใบไม้ใบหญ้า ..........วันหนึ่งได้แอบซุ่มอยู่ และเห็นจังๆ
“อะแฮ่ม”  พยาบาลส่งเสียงกระแอม   คนสูบตกใจจนหน้าซีด บุหรี่ตกจากปาก (ขำมาก แต่ระงับอาการไว้)
“ขอโทษค่ะ ที่ทำให้ตกใจ”  พยาบาลพูดและรอดูท่าที
 เขาบอกว่า  “ผมว่าจะเลิกแล้วนะหมอ พยายามแล้วนะ แต่ยังไม่ได้”
“มีอะไรให้ช่วยมั๊ยคะ ไหนลองเล่ามาซิ คุณลองเลิกวิธีไหนมาแล้วบ้าง”  พยาบาลได้เข้าไปสร้างสัมพันธภาพใช้คำพูดนุ่มนวล ไม่ตำหนิหรือพูดถึงสิ่งที่เห็นเมื่อสักครู่ เพราะคิดว่าถ้าแจ้งตำรวจก็คง เงียบเหมือนเดิม...........และแล้วเราก็ได้สมาชิกเข้าคลินิกเลิกบุหรี่เพิ่มอีก 1ราย
      เรื่องยังไม่จบค่ะเพราะเราเจอ ของแข็ง วันหนึ่งมีลูกจ้างมาบอกว่า เห็นผู้คุมฯสูบบุหรี่บริเวณที่พักรับประทานอาหารของคนงานก่อสร้าง ที่จริงเห็นบ่อย   ลูกจ้างแจ้งว่า “พอดี พี่รู้จักกันกับผู้คุมฯ ได้บอกเขาแล้วว่าโรงพยาบาลเป็นเขตปลอดบุหรี่ ห้ามสูบ แต่เขาไม่ฟัง ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว”  
.... ภารกิจจับโจร(สูบบุหรี่) จึงเริ่มขึ้นอีก  ได้บอกพี่ลูกจ้างว่าถ้าพบอีกไม่ต้องพูดแล้ว ให้มาบอกเราเลยจะถ่ายรูปไว้ เพราะได้เคยแจ้งเขาไว้แล้ว คงต้องขอร้องให้ตำรวจได้ทำหน้าที่จริงๆบ้าง    …….แล้ววันหนึ่งก็ได้โทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ   ประมาณ 30 นาที เห็นตำรวจสายตรวจรถจักรยานยนต์มา   เราได้ให้ข้อมูลและการดำเนินการที่ได้ดำเนินการไปแล้วในเบื้องต้น   ตำรวจขอเข้าไปพูดคุยกับผู้คุมโดยลำพัง  ประมาณ 10 นาที แล้วก็ออกมาพร้อมจะกลับ ..เราบอกว่า. เราพร้อมจะนำหลักฐานให้ตำรวจดู  แต่ตำรวจบอกว่า
 “ไม่เป็นไรหรอกครับพี่”......เอ้า!     แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้กลิ่นบุหรี่หรือพบผู้สูบ   ผ่านไป 2 สัปดาห์   พบผู้คุมฯสูบอีก....เฮ่อ! จะเอาอย่างไรดีหนอ  คราวนี้เราหันมาพึ่งสิงศักดิ์สิทธิ์ โดยได้เริ่มใช้พลังจิต ใช้พลังของแรงอธิษฐาน   โดยได้อธิษฐานจิตว่า.... สาธุ ! ขอให้ได้เข้าประชุมที่อำเภอแทนท่านผู้อำนวยการทีเถอะ เพี้ยง !
ได้ผลค่ะ แรงอธิษฐานเป็นจริง ได้เข้าประชุมเตรียมความพร้อมการจัดงานวันต่อต้านยาเสพติดโลกแทนท่านผู้อำนวยการจริงๆ (ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ คนสุรินทร์ ของเขาแรงนะคะ)  โดยหลังจากประชุมจนครบวาระ ในช่วงวาระอื่นๆ  พยาบาลได้ขอความร่วมมือทุกหน่วย  ช่วยดำเนินการร่วมกันออกตรวจร้านค้า และเฝ้าระวังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เหมือนทุกปีที่เคยปฏิบัติกันมา และได้เล่าเหตุการณ์และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในโรงพยาบาล  ให้ที่ประชุมได้รับทราบ  ท่านผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร สภ.......ได้บอกว่าถ้ามีเหตุฯ อีก ให้ต่อสายตรงถึงผู้กำกับเลย พร้อมให้เบอร์ไว้และบอกว่า .... “คุณพยาบาลครับ หลังเลิกประชุมพบผมหน่อยนะครับ”  
    หลังได้พูดคุยกับท่านทำให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังใจขึ้นมาก ดีใจที่มีแนวร่วมสายแข็ง มาปราบของแข็ง
                             ขอบคุณค่ะท่านผู้กำกับฯ