วันศุกร์ที่ 12 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคลินิกเลิกบุหรี่ รพ.จอมพระ จ.สุรินทร์

โรงพยาบาลจอมพระ มีคลินิกบริการให้คำปรึกษาการเลิกบุหรี่ตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งการให้บริการดำเนินการร่วมกับงานบำบัดสารเสพติดในโรงพยาบาล ที่ผ่านมามีจำนวนผู้รับบริการน้อยมาก  ส่วนใหญ่เน้นให้ความรู้โทษพิษภัยบุหรี่ในโรงเรียน   เมื่อออกชุมชนร่วมกับหน่วย PCU  ทำให้ทราบว่าร้อยละ80 ของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ติดบุหรี่ ซึ่งส่งผลทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลและความดันโลหิตได้
ในปีงบประมาณ  2554ได้รับการสนับสนุนโครงการจาก สปสช. โดยเน้นในผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่สูบบุหรี่ตระหนักถึงสารที่อยู่ในบุหรี่มีผลทำให้การรักษาโรคไม่ได้ผลเท่าที่ควรจึงควรหยุดสูบบุหรี่  โดยมีแนวทางการดำเนินงานจากคู่มือเวชปฏิบัติการบำบัดรักษาโรคติดบุหรี่ ปี 2552   เมื่อได้รับมอบหมายให้ดูแลบริการผู้ป่วยนี้ด้วย ยอมรับว่ารู้สึกแย่มากๆ เพราะยังไม่เคยผ่านการอบรมตามหลักสูตร ทำให้ขาดทักษะการสร้างแรงจูงใจ แต่ก็พยายามทำอย่างเต็มที่ หน่วยงานอื่นเน้นการประชาสัมพันธ์การบริการซึ่งได้เปิดบริการทุกวันศุกร์ เวลา 09.00-12.00 น.   ผลการดำเนินงานในปี 2554 เป็นในเชิงปริมาณมากกว่า การบันทึกข้อมูลในเวชระเบียนยังไม่สมบูรณ์ทำให้ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์ได้ ซึ่งเป็นโอกาสในพัฒนาในปีต่อไป    
ในปี 2555  สสจ.สุรินทร์ร่วมกับ สปสช.เขต 9 นครราชสีมา ได้จัดอบรมทักษะการสร้างแรงจูงใจการบริการในคลินิกเลิกบุหรี่ รูปแบบ 5A ,5R ให้กับเจ้าหน้าที่ ทำให้มีทักษะและมีความมั่นใจในการทำงานมากขึ้น  จากการร่วมโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านสุขภาพในชุมชนกับหน่วย PCU จอมพระมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับกลุ่มเป้าหมายทำให้ทราบว่า ในความเป็นจริงการเลิกบุหรี่เป็นสิ่งที่ทำได้ไม่ยาก ถ้าผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่มีความตระหนักและตั้งใจที่จะเลิกสูบบุหรี่อย่างจริงจัง ภายในระยะเวลา 1 เดือน  
Case ที่ทำให้รู้สึกประทับใจและมีแรงบันดาลใจในการทำงานโดยไม่รู้สึกย่อท้อ มี 2 ราย  
รายแรก พาภรรยามาฝากครรภ์ เข้าโครงการโรงเรียนพ่อแม่  มองเห็นข้อความประชาสัมพันธ์ สิ่งดีๆที่คุณจะได้เมื่อคุณเลิกสูบบุหรี่ จึงเข้าไปสอบถามและบอกว่าเขาพยายามเลิกบุหรี่หลายครั้งแล้วแต่ไม่สำเร็จ  เราจึงถาม เหตุผลที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ และวิธีที่ใช้ในการเลิกสูบ มีวิธีใดบ้าง  คำตอบที่ได้รับคือ  เป็นผู้นำชุมชนที่ต้องเข้าร่วมประชุมที่ห้องประชุมอำเภอบ่อยครั้งซึ่งสูบบุหรี่ไม่ได้ , ต้องการเป็นแบบอย่างในชุมชนและสุดท้ายไม่ต้องการให้ภรรยาและบุตรเป็นคนสูบบุหรี่มือสองและสาม วิธีที่เคยใช้คือหยุดสูบโดยการหักดิบเหมือนเพื่อนที่เคยเลิกสูบได้แล้ว  แต่ไม่รู้วิธีการดูแลตนเองหลังการเลิกบุหรี่ ทำให้เลิกไม่สำเร็จ  ผู้ป่วยรายนี้ เราถือได้ว่าเป็นผู้ป่วยมีต้นทุนการเริ่มต้นที่ดี ได้ชื่นชมและให้กำลังใจในการทำต่อ แนะนำเพิ่มให้จัดการกับสิ่งกระตุ้นให้อยากสูบบุหรี่คือการทิ้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ทั้งหมด และร่วมกับการใช้ชารางจืด ชงดื่มตอนเช้าวันละ1 ซองเป็นเวลา  5 วัน เข้าอบสมุนไพรช่วยขับสารนิโคติน ทุกวันศุกร์ในระยะเวลา 1 เดือน ผู้ป่วยมาบอกว่าเลิกสูบได้ 1 เดือนแล้วดีใจมากและตั้งมั่นจะไม่กลับไปสูบอีก จะไปบอกเพื่อนๆที่สูบบุหรี่และผู้ที่อยากเลิกบุหรี่ให้มารับบริการได้ที่รพ.จอมพระ   
รายที่  2  เป็นสามีของอสม.ในเขตรับผิดชอบเมื่อได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่แล้วนำไปบอกสามีซึ่งสูบบุหรี่  สามีเห็นความสำคัญเรื่องสุภาพจึงสมัครใจเข้ามาบำบัดด้วยตนเอง เราใช้วิธีเดียวกันคือ การให้คำปรึกษา หักดิบและอบสมุนไพร ในระยะเวลา 1เดือน ซึ่งเมื่อสภาพร่างกายปรับตัวได้ปกติแล้ว ติดตามดูอาการ อีก 3-4 เดือน ป้องกันการกลับไปสูบ
กรณีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตามกลุ่มเป้าหมายที่กำหนด ส่วนใหญ่เข้ารับบริการโดยการแนะนำจากเจ้าหน้าที่ ผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผู้ป่วยในขณะบริการ ทราบว่า บางรายเคยเลิกสูบแล้วหลายปี กลับมาสูบใหม่เมื่อเห็นคนอื่นสูบและจะตั้งใจเลิกใหม่  บางรายไม่ขอเข้าคลินิกพยายามเลิกเองดูก่อน พบว่ายังเลิกสูบไม่ได้ บางรายบอกว่าเลิกไม่ได้เพราะมีความเครียดเรื่องงาน ครอบครัว และมีหลายรายที่บอกว่าจะพยายามเลิกให้ได้และจะปฏิบัติตามที่เจ้าหน้าที่แนะนำ ซึ่งทำให้เรารู้สึกมีกำลังใจและมีพลังที่จะดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้ต่อไป
ด้วยเข็มมุ่งที่ว่า  1. ให้ข้อมูลที่ถูกต้องบ่อยครั้ง เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนัก  
                              2. ให้เวลาเพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้วยวิธีที่ตัวเองคิด  
                              3. ให้กำลังใจเพื่อเสริมแรง ชื่นชมสิ่งดีๆที่ทำ  
                             4. ติดตามดูอาการอย่างต่อเนื่อง   
ถ้าวันนี้คุณยังเลิกสูบไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ขอแค่ให้พยายามลดลงเรื่อยๆเพื่อสุขภาพของตนเอง  วันหนึ่งเมื่อคุณรู้ว่าบุหรี่ มีแต่โทษ ไม่มีประโยชน์ วันนั้นคุณคงจะเลิกสูบโดยไม่ต้องมีใครต้องร้องขอ  

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น