วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่ รพ.สนม สุรินทร์


เรื่องเล่าประสบการณ์จากการทำงานคลินิกฟ้าใส  (อดบุหรี่)
“ลุงแซมกับบุหรี่มวนเดียว”
โดย
นางสาวิตรี  ดาทอง
                        พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ  
                       โรงพยาบาลสนม  อำเภอสนม  จังหวัดสุรินทร์

เรื่อง  “ลุงแซมกับบุหรี่มวนเดียว”

          ดิฉันเป็นพยาบาลทำงานประจำอยู่ที่โรงพยาบาลในชนบทแห่งหนึ่ง  เป็นโรงพยาบาลขนาด  30  เตียง  อยู่ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ  56  กิโลเมตร   มีแพทย์ประจำทั้งหมด   4  คน  (จริงแล้วเป็นแพทย์หมุนเวียนมาปฏิบัติหน้าที่  ครบวาระ  1  ปีก็ย้าย)   เป็นถิ่นที่เกือบจะเรียกได้ว่ากันดารพอสมควร  เพราะว่าอำเภอที่ดิฉันทำงานอยู่เป็นอำเภอปิดคือไม่มีถนนที่จะเชื่อมต่อกับเส้นทางหลักในการสัญจรไปมา  ทำให้การเดินทางเข้าตัวจังหวัดในแต่ละครั้งลำบากพอสมควร  เพราะไม่มีรถโดยสารประจำทางที่เดินทางตรงเวลาเลย ดีไม่ดีก็ไม่มีรถที่จะเข้าตัวเมืองด้วยซ้ำ  ฉะนั้นไม่ต้องคิดถึงเรื่องความเจริญด้านต่างๆ  เลยคะ  ดิฉันได้รับความไว้วางใจจากท่านผู้อำนวยการ  ให้รับผิดชอบงานยาเสพติด  ชาวบ้านที่มารับบริการที่นี่จะรู้จักกันดีในนามของ  “คลินิกฟ้าใส”     เปิดบริการวันจันทร์ถึงวันศุกร์  เป็นการให้บริการแบบครบวงจรในที่แห่งเดียวคือให้การดูแล  ตรวจรักษาและรับยาตรงนี้ได้เลย  เป็นบริการพิเศษที่คิดว่าผู้รับบริการจะมีความสะดวกและเกิดความพึงพอใจมากที่สุด  เพราะใคร ๆ  ก็ชอบการบริการเบ็ตเสร็จในขั้นตอนเดียว
         
          การบำบัดบุหรี่ก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ดิฉันทำเป็นประจำและรับผิดชอบงานยาเสพติดอื่นๆ   ด้วย
การบำบัดบุหรี่ที่คลินิกของดิฉันนั้นจะต้องทำงานร่วมกับแผนกผู้ป่วยนอกที่มารับบริการโรคเรื้อรังต่าง ๆ  เช่น  โรคเบาหวาน  โรคความดันโลหิตสูง  โรคหัวใจ  โรคหอบหืด  โรคถุงลมโป่งพอง  และโรคหลอดเลือดสมอง  (ตามเกณฑ์ที่สปสช.กำหนด)  โรคต่าง  ๆ  ที่กล่าวมานี้  ดิฉันต้องเข้าไปสัมผัสกับผู้ป่วยทุกรายที่สูบบุหรี่  เพื่อที่จะประเมินการสูบบุหรี่  ให้คำแนะนำ  ให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ที่มีผลต่อร่างกาย  ภาวะแทรกซ้อนจากโรคต่างๆ  และชักชวนเข้าคลินิกฟ้าใสเพื่อให้การบำบัดบุหรี่  ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถลด  ละ  เลิกบุหรี่ได้ในที่สุด

          ลุงแซม  ชายวัยผู้ใหญ่  รูปร่างสันทัด  ผิวดำแดง  สวมใส่เสื้อผ้าสะอาดสะอ้านดี  แกเป็นผู้ป่วยรายหนึ่งที่ดิฉันพบที่คลินิกโรคหอบหืดและโรคถุงลมโป่งพอง  แกมีโรคประจำตัวคือเป็นโรคถุงลมโป่งพองและเป็นโรคไทรอยด์ด้วย  ตาโปนเล็กน้อย  ท่าทางเหนื่อยหอบพอสมควรสุขภาพทั่วไปในขณะนั้นไม่ค่อยจะแข็งแรงเท่าไหร่  แกมาตรวจที่คลินิกตามนัด  จากการซักประวัติพบว่าลุงแซมสูบบุหรี่อยู่วันละ  3  -  4  มวน  เป็นบุหรี่มวนเอง  แกซื้อบุหรี่จากร้านค้าในหมู่บ้าน  ห่อละ  5  -  10   บาท  ห่อหนึ่งจะสูบได้ประมาณ  วัน  แกจะมวนยาสูบเองคล้ายกับผู้สูบบุหรี่อื่น ๆ  ในหมู่บ้าน  จึงเป็นโอกาสดีของดิฉันที่จะได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับโทษของการสูบบุหรี่ที่มีต่อโรคถุงลมโป่งพองและโรคไทรอยด์ที่ลุงแซมแกเป็นอยู่ว่า  “การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดอาการหอบเหนื่อยมากและรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ  นะลุง  ยาที่หมอให้ไปจะใช้ไม่ค่อยได้ผลเพราะว่าในบุหรี่มีสารพิษมากมายที่ทำให้ยาออกฤทธิ์ได้น้อยลง  ลุงเป็นทั้งไทรอยด์ด้วย  การสูบบุหรี่อยู่จะทำให้ควบคุมอาการของโรคยากมากขึ้น  พูดง่าย  ๆ  คือยาจะใช้ไม่ได้ผลนั่นเอง”  ลุงแซมแกทำท่าเหมือนจะเข้าใจ  และรับฟังด้วยความตั้งใจ  อาจเป็นเพราะว่าแกมีอาการหอบเหนื่อยอยู่ด้วยก็ได้  ทำให้แกตั้งใจฟังเป็นอย่างดี  บางครั้งแกก็พยักหน้าเห็นด้วย  แต่แกไม่พูด  ดิฉันจึงถามแกว่า  “ถ้าหมอจะนัดมาเข้าคลินิกเพื่อเลิกบุหรี่  ลุงยินดีที่จะมาไหม”  และดิฉันก็พูดถึงความสำคัญที่ต้องเลิกบุหรี่ให้แกเข้าใจ  แกก็บอกว่า  “มาก็ได้”  จากนั้นดิฉันจึงเขียนใบนัดให้แกมารับบริการบำบัดบุหรี่ที่คลินิกฟ้าใสในอีก  1  สัปดาห์

          วันนัดครั้งที่  1   ลุงแซมเดินถือใบนัดมาที่คลินิกฟ้าใส  แกมาคนเดียว  ดิฉันก็ทักทายและพูดคุยเรื่องต่าง  ๆ  เพื่อเป็นการสร้างความคุ้นเคย  ก่อนที่จะนำเข้าสู่เรื่องการสูบบุหรี่  ลุงแซมให้ความเป็นกันเอง  ยิ้มแย้มแจ่มใสดี  ดิฉันสังเกตว่าแกดูไม่หอบเหนื่อยเหมือนวันที่เจอกันที่คลินิกโรคหอบหืดเลย   เมื่อมีความคุ้นเคยกันมากขึ้นแกดูเป็นกันเองแล้วดิฉันจึงเริ่มซักประวัติการสูบบุหรี่  การติดนิโคติน  และประเมินอาการต่าง  ๆ  แล้ว  ดิฉันจึงถามลุงแซมว่า    “ลงแซมสูบบุหรี่อยู่วันละกี่มวนคะ”  ลุงแซมบอกว่า  “หลังจากที่ได้คุยกับคุณหมอเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว  จากที่เคยสูบบุหรี่วันละ  3  -  4  มวนนั้น   ลุงก็พยายามลดลง  ตอนนี้เหลือสูบอยู่วันละ  1  มวน”  ลุงแซมพูดด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม  ดิฉันนึกดีใจ  อย่างน้อยสิ่งที่พูดในวันนั้นก็ทำให้ลุงแซมเห็นความสำคัญ  และลดการสูบบุหรี่ลงได้    ดิฉันยิ้มชื่นชมในสิ่งที่ลุงแซมทำได้  และให้กำลังใจในการที่จะพยายามลดบุหรี่อีก  1 มวนให้ได้  ดิฉันมองเห็นความสำเร็จของลุงแซมแล้ว  คิดว่าลุงแซมต้องทำได้แน่นอน  ดิฉันจึงพูดถึงโรคที่เป็นอยู่และถามลุงแซมว่า  “หลังจากที่สูบบุหรี่ลดลงอาการเหนื่อยหอบและอาการไทรอยด์ทุเลาลงไหมคะ?”    ลุงแซมก็บอกว่า  “ไอหอบลดลง  กลางคืนก็หายใจดีขึ้น  ไม่ค่อยมีเสลด  แต่ก็ยังมีหอบกลางคืนเป็นบางวัน  แต่ดีขึ้นกว่าเดิม  มันยังติดอยู่ที่บุหรี่  1  มวนนี้แหล่ะ  ยังเลิกไม่ได้”  ดิฉันจึงแนะนำวิธีการเลิกบุหรี่อีกหนึ่งมวนนี้ให้ลุงแซม   โดยการกำหนดวันให้ลุงแซมภายในหนึ่งอาทิตย์  บุหรี่  1  มวนนี้ต้องเลิกได้ในวันใดวันหนึ่ง  ลุงแซมรับปากว่าจะทำให้ได้  หลังจากนั้นก็คุยกันเกี่ยวกับวิธีการเลิก  การเอาชนะอาการหงุดหงิด  อาการโมโห  และอาการกระวนกระวายเมื่อเกิดอยากบุหรี่หรือที่เราเรียกว่าการขาดนิโคตินนั่นเอง  ลุงแซมเข้าใจและคิดว่าจะต้องจัดการกับอาการต่าง  ๆ  นี้ได้  ก่อนกลับบ้านวันนั้นดิฉันบอกกับลุงแซมว่า  “หมอจะเป็นกำลังใจให้ลุงแซมเอาชนะบุหรี่มวนเดียวนี้ได้นะคะ  อีก  อาทิตย์เราค่อยมาพบกันตามนัดนะคะ  หมอคิดว่าลุงแซมทำได้แน่นอนคะ”  ลุงแซมยิ้มอย่างมีความสุข   และบอกกับดิฉันว่า  “จะพยายามทำตามที่คุณหมอบอก”  ดิฉันยื่นใบนัดครั้งที่  2 ให้แล้วลุงแซมก็กลับบ้านไปด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเช่นเคย

          วันนัดครั้งที่  2   มาถึงลุงแซมเดินมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มเหมือนเดิม  ดิฉันก็ทักทายตามปกติเช่นเคย  “ดีใจนะคะที่ลุงแซมมาตามนัด”  ลุงแซมยิ้มไม่พูดว่าอะไร  หลังจากนั้นดิฉันก็คุยเรื่องทั่วๆ  ไปเป็นการทักทายและสร้างสัมพันธภาพเหมือนเดิมก่อนที่จะถามถึงเรื่องการสูบบุหรี่  “วันนี้เราก็จะคุยกันถึงเรื่องการเลิกบุหรี่ของลุงอีกนะคะ  อาการของลุงดีขึ้นไหม?”    ลุงแซมบอกว่า  “ดีขึ้นนะ  นานๆ  จะหอบที  แต่ลุงยังเลิกไม่ได้เลย  ยังเหลือ  1  มวนนี่แหล่ะ”  จากคำบอกเล่าของลุงแซมทำให้ดิฉันเริ่มสงสัยว่าบุหรี่แค่มวนเดียว  ทำไมลุงแซมทำไม่ได้  ทั้ง  ๆ  ที่แต่ก่อน  4   มวนลุงแซมยังทำได้  ดิฉันจึงถามลุงแซมทันทีว่า  “เพราะอะไรลุงถึงยังสุบอยู่มวนเดียวคะ?”  ลุงแซมบอกว่า  “  มีอาการหงุดหงิดอยู่ทนไม่ได้เลย”  ดิฉันก็ถามต่ออีกว่า  “ 1  มวนที่สูบอยู่ลุงสูบช่วงไหนคะ?”    ลุงแซมบอกว่า  “ก็สูบตอนเช้า  สายๆ  อีก  บางครั้งก็สูบหลังจากทานข้าวเที่ยงเสร็จ”  ดิฉันยิ่งสงสัยมากขึ้นว่าทำไมบุหรี่มวนเดียวถึงสูบได้นานจัง  แต่ลุงแซมแกก็อธิบายให้ฟังอีกว่า  “ก็สูบมวนเดียวนั่นแหล่ะ  ช่วงเช้าสูบหนึ่งถึงสองอึกพอได้กลิ่นบุหรี่แล้วรู้สึกดีก็ดับบุหรี่แล้ววางไว้  สาย  ๆ หิวอีก  ก็หยิบบุหรี่ที่วางไว้นั่นแหล่ะมาสูบอีกหนึ่งถึงสองอึกก็ดับบุหรี่แล้ววางไว้อีก  เอาไว้สูบอีกตอนเที่ยง  ก็เป็นบุหรี่มวนเดียวกันนั่นแหล่ะ  บางครั้งก็สูบได้เกือบทั้งวันเลย  ก็บุหรี่มวนเดียวนี่เอง”  ลุงแซมเล่าทำให้ดิฉันนึกภาพออกได้ทันที  เป็นแบบนี้นี่เอง  ลุงแกถึงบอกว่าเลิกไม่ได้  เพราะบุหรี่มวนเดียวแต่สูบหลาย  ๆ  อึก  หลาย  ๆ  ครั้งของแกนี่เอง  ดิฉันเริ่มมองเห็นภาพแล้ว  ทำให้คิดได้ว่าที่แท้แกติดบุหรี่มวนเดียวจริง  ๆ  อย่างที่แกบอก  ตั้งแต่บำบัดมามีแกนี่แหล่ะที่แปลกที่สุด  บุหรี่มวนเดียวสูบได้ทั้งวัน  ก็ไม่ต่างกันกับคนที่สูบบุหรี่วันละ   5   มวนเลย   พอรู้สาเหตุที่มาที่ไปของบุหรี่มวนเดียวแล้ว  ดิฉันก็คุยกับลุงแซมเรื่องการเลิกบุหรี่มวนเดียวใหม่  โดยการทำข้อตกลงกันให้ชัดเจนมากขึ้น  แนะนำวิธีการใหม่และเทคนิคใหม่ให้แก  แกรับปากว่าคราวนี้จะทำให้ได้  หลังจากนั้นดิฉันจึงนัดหมายในครั้งต่อไปอีกหนึ่งอาทิตย์

          วันนัดครั้งที่  3  มาถึง  ลุงแซมมาที่คลินิกเหมือนเดิม  คราวนี้ลุงแซมยิ้มหน้าตาสดใสกว่าทุกครั้ง  เราได้คุยกันเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่อีก  ลุงแซมบอกว่า  “ไม่ได้สูบหลังจากที่มาหาหมอวันนั้นนั่นแหล่ะ  ลุงหยุดได้  6  วันแล้ว  แรก  ๆ  ก็หงุดหงิดมากเหมือนกันแต่พอทำตามวิธีที่หมอบอกก็ทนได้”  แรก  ๆ   ที่แกบอกดิฉันคิดว่าจริงหรือเปล่า  กลัวจะเป็นเหมือนบุหรี่มวนเดียวที่แกบอกอีก  จึงพยายามซักถามรายละเอียดการหยุดสูบบุหรี่ของแกมากขึ้น   คราวนี้แกยืนยันว่าแกไม่มีบุหรี่พกติดตัวเลย  ไม่ใช้บุหรี่แล้วซ้ำยังเหม็นกลิ่นบุหรี่ที่คนอื่นเค้าสูบกันอีก  อาการหอบเหนื่อย  อาการไอก็ดีขึ้น”  แกพูดด้วยสีหน้าท่าทางจริงจังมาก  ดิฉันเชื่อในสิ่งที่แกพูด  และอดชื่นชมแกไม่ได้  จึงให้กำลังใจและแนะนำการป้องกันการกลับมาเสพซ้ำให้แก  แกบอกว่า  “ไม่แล้วพอแล้ว  กว่าจะเลิกได้มันทรมานเหมือนกัน”   หลังจากนั้นดิฉันจึงนัดหมายให้แกมาพบอีกครั้งในอาทิตย์หน้า  จะครบโปรแกรมการบำบัดบุหรี่ที่คลินิกฟ้าใส 

          วันนัดหมายครั้งที่  4  ลุงแซมมาด้วยใบหน้ายิ้มแย้มมากกว่าเดิม  วันนี้แกบอกว่า  “วันนี้ลุงมาที่คลินิกหอบหืดด้วย  อาการดีขึ้นมากตั้งแต่ไม่มีควันบุหรี่  ไม่ไอ ไม่หอบ  นอนหลับดี”   ดิฉันก็ทักทายลุงแซมและเรามีความคุ้นเคยกันมากขึ้น  กิจกรรมครั้งสุดท้ายของการนัดบำบัดก็จะเน้นให้ลุงแซมมีความมั่นใจ  มีกำลังใจและไม่กลับไปเสพบุหรี่ซ้ำอีก  และคุยกับลุงแซมเรื่องการติดตามเยี่ยมที่บ้านเพื่อเป็นการฟื้นฟูและป้องกันการกลับไปเสพบุหรี่ซ้ำนั่นเอง  ลุงแซมเข้าใจและยินดีที่หมอจะไปเยี่ยมที่บ้าน  ดิฉันจึงได้เขียนใบนัดหมายว่าติดตามเยี่ยมบ้านวันใดบ้าง  หลังจากนั้นดิฉันจึงให้ลุงแซมกลับไปรับยาโรคถุงลมโป่งพองตามนัดหมายที่คลินิกโรคเรื้อรังต่อไป

          กิจกรรมการบำบัดบุหรี่เป็นเรื่องของการเข้าถึงทั้งตัวบุคคล  ปัญหาและสาเหตุต่าง  ๆ   การมีสัมพันธภาพที่ดี  และที่สำคัญต้องมีการสังเกตแม้แต่เรื่องเล็ก  ๆ  น้อย  ๆ  บางครั้งเราก็มองผ่านไปทำให้เรามองไม่เห็นปัญหา  การแก้ปัญหาจึงไม่ได้ผล  เช่นเดียวกับเรื่องของลุงแซมที่ตัวดิฉันเองมองข้ามผ่านไปว่าแค่บุหรี่มวนเดียวยังไงลุงแซมต้องทำได้  แต่จริง ๆ  แล้วไม่ใช่เลย  ตอนนี้ดิฉันกับลุงแซมก็ยังติดต่อกันในเรื่องของการติดตามเยี่ยม  ดิฉันดีใจที่แกเลิกบุหรี่ได้  ถึงตอนนี้เป็นระยะเวลาเกือบ   3  เดือนแล้วที่แกเลิกยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่โดยเด็ดขาด  แกมาตามนัดที่คลินิกโรคเรื้อรังสม่ำเสมอ  สุขภาพของแกดีขึ้นมาก  ไม่ค่อยหอบเหนื่อยบ่อยเหมือนแต่ก่อน  อาการของไทรอยด์ก็อยู่ในเกณฑ์ปกติ  ไม่แสดงอาการกำเริบ  ดิฉันดีใจที่เห็นคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น  และดิฉันก็มีกำลังใจในการที่จะบำบัดบุหรี่ให้กับผู้รับบริการทุกคนที่สนใจจะเลิกบุหรี่ด้วยความยินดียิ่งคะ 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น