วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

เรื่องเล่าจากคลินิกอดบุหรี่ รพ.สำโรงทาบ สุรินทร์



การฝ่าฟันหนทาง สร้างโรงพยาบาลปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน
ตอน  ขอบคุณค่ะ ผู้กำกับฯ
          “คุณพยาบาลครับ หลังเลิกประชุมพบผมหน่อยนะครับ”  ผู้ที่เป็นพยาบาล (หนึ่งเดียวในที่ประชุมอำเภอ) รู้สึก.วาบๆ !! พิกล ก็จะไม่ให้รู้สึกเช่นนั้นได้อย่างไรคะ ในเมื่อผู้พูดนั้น เป็นถึงขั้นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร สภ.  ถึงจะวาบแต่ก็ไม่สะทกสะท้านเพราะเราไม่ได้กระทำสิ่งใดผิด
          โรงพยาบาลของเราเป็นโรงพยาบาลบ้านนอก อยู่ในต่างจังหวัด เป็นจังหวัดที่ติดชายแดนประเทศกัมพูชา (แต่ไม่ได้อยู่เขตชายแดนค่ะ)   เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง  เป็นแหล่งฝึกงานของพยาบาลชาวกัมพูชา  ทั้งๆ ที่โรงพยาบาลของเราไม่ได้อยู่เขตชายแดน แต่เหตุผลที่เป็นแหล่งฝึกงานเนื่องจากท่านผู้อำนวยการของเราสามารถพูดภาษากัมพูชาได้ค่ะ  เราเป็นโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 บรรยากาศน่าอยู่ ไร้ควันบุหรี่  เจ้าหน้าที่ทุกคนต่างทำหน้าที่ของตนเองอย่างดี ทั้งงานในหน้าที่ ที่อยู่ตรงหน้า(หน้าที่หลัก) และงานนอกหน้าที่ คืองานอื่นๆ ที่ได้รับมอบหมาย (หน้าที่รอง....ซึ่งมีมากมายเสียด้วย) หนึ่งในงาน ของหน้าที่รอง ของบุคลากรโรงพยาบาลของเรา ก็คือ งานช่วยค้นหาผู้ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ในเขตโรงพยาบาล  (พูด ให้เข้าใจง่ายๆก็คือการสำรวจ ค้นหาผู้ที่สูบุหรี่ในเขตโรงพยาบาลของเรานั่นเอง ) เนื่องจากเรามีข้อปฏิบัติร่วมกันว่า เมื่อพบผู้สูบบุหรี่ให้ช่วยเตือนและขอความร่วมมือปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 ด้วย หรือไม่ก็ชวนให้ผู้สูบบุหรี่เข้าคลินิกอดบุหรี่ของโรงพยาบาลซะ  และที่สำคัญต้องไม่ลืมที่จะแจ้งผลงานให้พยาบาลผู้รับผิดชอบทราบ เพื่อจะได้บันทึกผลการแจ้งฯ ลงในสมุดรับแจ้งการสูบบุหรี่ในเขตโรงพยาบาลด้วย เพราะจะเป็นผลงานที่จะทำให้เขาได้รับรางวัลเมื่อสิ้นปีงบประมาณ  พวกเราชาวโรงพยาบาลทำจนเป็นวัฒนธรรมแล้ว ส่งผลให้โรงพยาบาลมีอากาศที่บริสุทธิ์ปราศจากควันบุหรี่ แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีคนสูบเลยนะคะ นานๆครั้งจะพบคนสูบ   ส่วนใหญ่เป็นพ่อค้าขายของที่มาจากต่างถิ่นที่ไม่ทราบนโยบายของเราหรือ ทำเป็นไม่รู้กฎหมาย  ไม่สนใจป้ายห้ามสูบที่เราติดไว้ทั่วโรงพยาบาล  (คุ้นๆตานะคะ คนประเภทนี้  ที่เรามักจะเห็นจนเกลื่อนเมืองไทย)  และที่พบบ่อยคือ ก้นบุหรี่ที่หน้าทางเดินขึ้นตึกผู้ป่วยใน ซึ่งส่วนใหญ่พบแต่ร่องรอยการสูบเนื่องจากช่วงค่ำๆ  จะมีญาติมาเยี่ยมผู้ป่วยจำนวนมากทุกวัน  นี้เป็นโอกาสพัฒนาที่เรากำลังหาทางแก้ไขอยู่ เนื่องจากเราเป็นโรงพยาบาลขนาดเล็กไม่มีคุณยามช่วยดูแลช่วงกลางคืน   แต่ประชาชนในสิ่งพื้นที่ ส่วนใหญ่ทราบนโยบายของโรงพยาบาลอยู่แล้ว  เนื่องจากทางโรงพยาบาลได้บันทึกเสียงที่ของท่านผู้อำนวยการที่กล่าวประชาสัมพันธ์นโยบายและข้อตกลงของโรงพยาบาลไว้ในแผ่นซีดี แจกให้กับทุกหมู่บ้านเพื่อเปิดที่หอกระจายข่าวทุกๆวัน นอกจากนี้ในช่วงเวลา08.30-08.40น.ของทุกวันเวลาราชการโรงพยาบาลจะเปิดเสียงตามสายที่เป็นเสียงท่านผู้อำนวยการประชาสัมพันธ์นโยบายและข้อตกลงของโรงพยาบาลให้กับเจ้าหน้าที่และผู้มารับบริการได้รับฟังและรับทราบ  เมื่อเราพยายามทำให้พื้นที่สูบบุหรี่มีน้อยลง  ทำให้มีคนมาเลิกบุหรี่กับเราเพิ่มขึ้น  ซึ่งถึงแม้ว่าจะทำให้ภาระงานเพิ่มขึ้น เหนื่อยมากขึ้น ที่ต้องให้คำปรึกษากับผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ทุกวัน  แต่เป็นการเหนื่อยที่ คุ้มค่า ปิติสุข น่าภูมิใจยิ่งนัก  เจ้าหน้าที่กู้ชีพในชุมชนก็พลอยเลิกบุหรี่ไปด้วย  ภาพเดิมๆที่เราเคยเห็นคือ เมื่อเขามาส่งผู้ป่วยหนักหรือผู้ประสบอุบัติเหตุ จนถึงมือหมอและพยาบาลแล้ว  เขาจะรีบควักบุหรี่มาจุดสูบทันที  ในขณะที่รอฟังผลการตรวจรักษา ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจเพราะคนที่ติดบุหรี่ มักจะเครียดง่ายอยู่แล้ว
ยิ่งเมื่อต้องทำหน้าที่แบบนี้ ต้องเครียดกันทุกคน เนื่องจากเป็นเรื่องที่เสี่ยงเป็น เสี่ยงตาย บางกรณีเป็น-ตายเท่ากัน    แต่เมื่อโรงพยาบาลของเราเป็นเขตปลอดบุหรี่  ทำให้เขาหาที่สูบยาก จึงจำเป็นต้องเลิกในที่สุด ในฐานะที่เป็นคนหนึ่งที่ช่วยผลักดันนโยบายโรงพยาบาลปลอดบุหรี่จนเป็นรูปธรรมขนาดนี้ และสามารถช่วยให้คนเลิกบุหรี่ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  นึกทีไร   รู้สึกภูมิใจ   และอิ่มบุญทุกที
ความรู้สึกดีๆ เริ่มมาสะดุด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 เนื่องจากโรงพยาบาลของเราได้แฟลตใหม่ (ที่จริงน่าจะดีใจนะที่ได้ที่อยู่เพิ่มเป็นแฟลตตั้ง 4 ชั้นแน่ะ สะดุดทำไม) ที่ว่าสะดุดเนื่องจาก มีคนงานก่อสร้างจำนวนมาก และมีจำนวนหนึ่งที่สูบบุหรี่  ได้ปรึกษาร่วมกันกับคณะกรรมการโรงพยาบาลปลอดบุหรี่ มติที่ประชุมคือ ให้พ่อบ้าน(หัวหน้าฝ่ายบริหารฯ) เป็นผู้ไปเจรรากับผู้ควบคุมการก่อสร้างแจ้งถึงนโยบายของเรา  ซึ่งช่วยได้บ้างแต่ไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์  แก้ไขโดยโทรประสานผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ก็ ……เงียบ.......…   อยู่มาวันหนึ่ง คนงานก่อสร้างประสบอุบัติเหตุ ถูกไม้ตกใส่ศีรษะจนเป็นแผล มาทำแผลที่โรงพยาบาล บางคนเป็นหวัดมาตรวจพยาบาลก็ค่อยๆ เลียบเคียงถามสถานการณ์ ทราบว่าผู้คุมฯสูบเอง  ตัดสินใจลงไปเจรราด้วยตนเอง บุกเดี่ยว  แต่ก็สำเร็จค่ะ (แอบสร้างสายลับอยู่ในกลุ่มคนงานหญิง 1 คน เพื่อคอยแจ้งข่าว)  สอบถามคนงานบอกว่า เวลาเขาอยากสูบ เขาจะออกไปนอกโรงพยาบาลค่ะ   เฮ่อ! โล่งใจ..............  เมื่อแฟลตสร้างเสร็จได้กล่าวขอบคุณผู้คุมฯและสายลับที่ให้ความร่วมมือ
 แต่โล่งใจได้ไม่นาน ปี 2555 ทำให้พวกเราต้องหนักใจอีก เนื่องจากโรงพยาบาลได้งบประมาณสร้างอาคารห้องคลอดห้องผ่าตัด....คณะทำงานเตรียมวางแผนรับสถานการณ์ คราวนี้ก็ดำเนินการเหมือนเดิมคือมอบหมายพ่อบ้านเป็นผู้ไปเจรากับผู้ควบคุมการก่อสร้าง  พบปัญหาใหม่คือ คนงานก่อสร้างเป็นชาวกัมพูชา
ผู้ควบคุมการก่อสร้างเป็นคนไทย คุยกันไม่รู้เรื่อง  แต่ก็เป็นความโชคดีที่พยาบาลพูดภาษาถิ่นของจังหวัดได้ (ภาษาเขมร) ได้ลงไปเจราแจ้งเรื่อง พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ. 2535 เขาก็รับฟังค่ะ แต่ไม่ปฏิบัติตาม จึงได้ขอความร่วมมืออีกครั้ง ....
 “กะมัยจั๊วะเน้อ เคาะกดมาย ตันรูด นึงโมจั๊บ” เสียงพยาบาลพูดภาษาเขมรพูดเชิงขอร้องว่าไม่ให้สูบบุหรี่เนื่องผิดกฎหมายไทยเดี๋ยวตำรวจจะมาจับนะ...   เขาพูดสวนมาว่า “อ๊อดจั๊วะ เคิงบ๊อ” แปลว่า ไม่ได้สูบเลยนะ เห็นเหรอ?...  พยาบาลได้เอารูปในมือถือให้ดู เขาจึงพูดไม่ออก.........  (นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ใครจะทำงานนี้ควรมีมือถือที่ถ่ายรูปได้หรือมีกล้องติดตัวเสมอจ้า.....)
  เหนื่อยนะในสถานการณ์แบบนี้ อันที่จริงแล้ว  ถ้าตำรวจเขาทำหน้าที่ของเขา เราจะไม่ต้องเสี่ยงชีวิตขนาดนี้เลย  ศึกเขมรผ่านไปศึกไทยมาอีก  ดูๆไปเหมือนตนเองเป็นโรคจิตนะ จมูกเนี่ย ดี๊ดี ได้กลิ่นบุหรี่เมื่อไหร่ จะเดินไปตามกลิ่นทันที มีช่วงหนึ่งช่วงต้นปีที่คนงานก่อสร้างเข้ามามากมาย เวลาเที่ยงกว่าๆจะเริ่มได้กลิ่นแล้ว  เจ้าหน้าที่ทุกคนที่ OPD บอกว่า “คุณนั่นแหละไปพิสูจน์กลิ่น” ภารกิจนี้ ต้องใช้เวลาตามหาที่มาของกลิ่นตั้ง 3 วัน ด้อมๆมอง ทำจมูกฟุตๆฟิต เหมือนอะไรก็ไม่รู้ (ได้กลิ่นบุหรี่เฉพาะช่วงเที่ยงกว่าๆ) พบว่า เป็นคนงาน คนไทย นั่งสูบบุหรี่อยู่ใต้ทางเดินเชื่อมระหว่างตึก  (เขามีความพยายามมากเลยค่ะ เนื่องจากใต้ถุนมีแต่ต้นไม้ใบหญ้า เขายังซุ่มสูบได้  เห็นแล้วพบความเสี่ยงทันที...เสี่ยงด้านอัคคีภัยค่ะ)
  พยาบาลสอบถามว่า “ได้กลิ่นควันบุหรี่ค่ะ.....มีใคร สูบมั๊ยค๊า”
 เขาตอบกลับมาว่า “ไม่มีหรอกหมอ...ทำไมจมูกดีจัง”
ตอนนั้นเราทำอะไรเขาไม่ได้เพราะไม่มีหลักฐาน  จึงได้ปรับกลวิธีใหม่ ภารกิจจับโจร(สูบบุหรี่) จึงเริ่มขึ้น  ได้เข้าไปพูดคุยขอความร่วมมือจากผู้ควบคุมการก่อสร้างอีกครั้ง แจ้งว่ามีคนเห็นคนงานท่านสูบบุหรี่  และได้บอกว่า  “ต่อไปขออนุญาตถ่ายรูปนะคะเพื่อเป็นหลักฐานทางกฎหมาย” พยาบาลได้แจ้งผู้คุมฯให้ทราบเพื่อให้รู้ว่าเราเอาจริง ....แต่คนงานเขาก็ระวังตัวเองเหมือนกัน เมื่อได้ยินเสียงฝีเท้าของนักสืบ เขาจะหยุดสูบและทำเป็นขยี้ใบไม้ใบหญ้า ..........วันหนึ่งได้แอบซุ่มอยู่ และเห็นจังๆ
“อะแฮ่ม”  พยาบาลส่งเสียงกระแอม   คนสูบตกใจจนหน้าซีด บุหรี่ตกจากปาก (ขำมาก แต่ระงับอาการไว้)
“ขอโทษค่ะ ที่ทำให้ตกใจ”  พยาบาลพูดและรอดูท่าที
 เขาบอกว่า  “ผมว่าจะเลิกแล้วนะหมอ พยายามแล้วนะ แต่ยังไม่ได้”
“มีอะไรให้ช่วยมั๊ยคะ ไหนลองเล่ามาซิ คุณลองเลิกวิธีไหนมาแล้วบ้าง”  พยาบาลได้เข้าไปสร้างสัมพันธภาพใช้คำพูดนุ่มนวล ไม่ตำหนิหรือพูดถึงสิ่งที่เห็นเมื่อสักครู่ เพราะคิดว่าถ้าแจ้งตำรวจก็คง เงียบเหมือนเดิม...........และแล้วเราก็ได้สมาชิกเข้าคลินิกเลิกบุหรี่เพิ่มอีก 1ราย
      เรื่องยังไม่จบค่ะเพราะเราเจอ ของแข็ง วันหนึ่งมีลูกจ้างมาบอกว่า เห็นผู้คุมฯสูบบุหรี่บริเวณที่พักรับประทานอาหารของคนงานก่อสร้าง ที่จริงเห็นบ่อย   ลูกจ้างแจ้งว่า “พอดี พี่รู้จักกันกับผู้คุมฯ ได้บอกเขาแล้วว่าโรงพยาบาลเป็นเขตปลอดบุหรี่ ห้ามสูบ แต่เขาไม่ฟัง ไม่รู้จะพูดอย่างไรแล้ว”  
.... ภารกิจจับโจร(สูบบุหรี่) จึงเริ่มขึ้นอีก  ได้บอกพี่ลูกจ้างว่าถ้าพบอีกไม่ต้องพูดแล้ว ให้มาบอกเราเลยจะถ่ายรูปไว้ เพราะได้เคยแจ้งเขาไว้แล้ว คงต้องขอร้องให้ตำรวจได้ทำหน้าที่จริงๆบ้าง    …….แล้ววันหนึ่งก็ได้โทรศัพท์ไปแจ้งตำรวจ   ประมาณ 30 นาที เห็นตำรวจสายตรวจรถจักรยานยนต์มา   เราได้ให้ข้อมูลและการดำเนินการที่ได้ดำเนินการไปแล้วในเบื้องต้น   ตำรวจขอเข้าไปพูดคุยกับผู้คุมโดยลำพัง  ประมาณ 10 นาที แล้วก็ออกมาพร้อมจะกลับ ..เราบอกว่า. เราพร้อมจะนำหลักฐานให้ตำรวจดู  แต่ตำรวจบอกว่า
 “ไม่เป็นไรหรอกครับพี่”......เอ้า!     แต่หลังจากนั้นก็ไม่มีใครได้กลิ่นบุหรี่หรือพบผู้สูบ   ผ่านไป 2 สัปดาห์   พบผู้คุมฯสูบอีก....เฮ่อ! จะเอาอย่างไรดีหนอ  คราวนี้เราหันมาพึ่งสิงศักดิ์สิทธิ์ โดยได้เริ่มใช้พลังจิต ใช้พลังของแรงอธิษฐาน   โดยได้อธิษฐานจิตว่า.... สาธุ ! ขอให้ได้เข้าประชุมที่อำเภอแทนท่านผู้อำนวยการทีเถอะ เพี้ยง !
ได้ผลค่ะ แรงอธิษฐานเป็นจริง ได้เข้าประชุมเตรียมความพร้อมการจัดงานวันต่อต้านยาเสพติดโลกแทนท่านผู้อำนวยการจริงๆ (ไม่เชื่อ อย่าลบหลู่ คนสุรินทร์ ของเขาแรงนะคะ)  โดยหลังจากประชุมจนครบวาระ ในช่วงวาระอื่นๆ  พยาบาลได้ขอความร่วมมือทุกหน่วย  ช่วยดำเนินการร่วมกันออกตรวจร้านค้า และเฝ้าระวังการบังคับใช้ พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2535 และพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 เหมือนทุกปีที่เคยปฏิบัติกันมา และได้เล่าเหตุการณ์และปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงานตามพ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่ในโรงพยาบาล  ให้ที่ประชุมได้รับทราบ  ท่านผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธร สภ.......ได้บอกว่าถ้ามีเหตุฯ อีก ให้ต่อสายตรงถึงผู้กำกับเลย พร้อมให้เบอร์ไว้และบอกว่า .... “คุณพยาบาลครับ หลังเลิกประชุมพบผมหน่อยนะครับ”  
    หลังได้พูดคุยกับท่านทำให้ผู้ปฏิบัติมีกำลังใจขึ้นมาก ดีใจที่มีแนวร่วมสายแข็ง มาปราบของแข็ง
                             ขอบคุณค่ะท่านผู้กำกับฯ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น